มติมหาเถรสมาคม
ครั้งที่ 21/2565
มติที่ 679/2565
เรื่อง รายงานผลการพิจารณาของคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร
ในการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๒๑/๒๕๖๕ เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๕ เลขาธิการมหาเถรสมาคมเสนอว่า คณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ สผ ๐๐๑๘.๐๒/๔๙๘๐ ลงวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๕ แจ้งว่า ตามที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้มีหนังสือ กราบเรียนประธานรัฐสภา แจ้งมติที่ประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๑๑/๒๕๖๕ เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๖๕ มติที่ ๓๙๐/๒๕๖๕ เรื่อง พระภิกษุเกี่ยวข้องกับการเมือง และไม่ประพฤติปฏิบัติตามมติมหาเถรสมาคม ในการนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้นำความกราบเรียนประธานรัฐสภา เพื่อพิจารณา โดยประธานรัฐสภาเห็นควรให้คณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ซึ่งในการประชุมคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๖๕ ที่ประชุมได้มีการพิจารณากรณีการแต่งตั้งพระภิกษุมาร่วมเป็นกรรมาธิการ อนุกรรมาธิการ หรือที่ปรึกษาในคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งตำแหน่งอื่น ๆ ในวงงานรัฐสภา ตามมติ มหาเถรสมาคมดังกล่าว โดยปรากฏผลการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ดังนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องในการแต่งตั้งบุคคลในวงงานรัฐสภา ได้แก่ ๑. ประกาศสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งบุคคล เพื่อปฏิบัติงานให้แก่คณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร ๒. ประกาศสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งบุคคล เพื่อเป็นคณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎร รองประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้าน ในสภาผู้แทนราษฎร ๓. ประกาศสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งบุคคลเพื่อปฏิบัติงานให้แก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยประกาศทั้ง ๓ ฉบับ ข้างต้น ไม่ได้ห้ามพระภิกษุมาดำรงตำแหน่งเป็นกรรมาธิการ อนุกรรมาธิการ หรือที่ปรึกษาในคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งตำแหน่งอื่น ๆ ในวงงานรัฐสภา ทั้งนี้ หลังจากมหาเถรสมาคมมีมติที่ ๓๙๐/๒๕๖๕ กรณีพระภิกษุไปร่วมเป็นกรรมาธิการ อนุกรรมาธิการ หรือที่ปรึกษาในคณะกรรมาธิการ เป็นภาระหน้าที่ของฝ่ายการเมืองที่ดำเนินการ โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาเป็นเรื่องการเมืองนั้น พระภิกษุที่ได้รับทราบมติมหาเถร-สมาคมดังกล่าว ได้มีหนังสือลาออกจากการเป็นอนุกรรมาธิการและที่ปรึกษาประจำคณะอนุกรรมาธิการ ซึ่งปัจจุบันสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้สำรวจแล้ว ไม่พบพระภิกษุดำรงตำแหน่งตามที่กล่าว มาแล้วแต่อย่างใด รวมทั้งไม่พบว่ามีพระภิกษุดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ หรือคณะทำงานของ สภาผู้แทนราษฎร และของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเช่นกัน ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการได้ดำเนินการแจ้งมติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๑๑/๒๕๖๕ เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๖๕ มติที่ ๓๙๐/๒๕๖๕ เรื่อง พระภิกษุเกี่ยวข้องกับการเมือง และไม่ประพฤติปฏิบัติตามมติมหาเถรสมาคม ไปยังประธานคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎรทุกคณะ เพื่อทราบ และถือปฏิบัติ พร้อมกันนี้คณะกรรมาธิการมีข้อสังเกตว่าหากคณะกรรมาธิการคณะใด มีความประสงค์ จะกราบนิมนต์พระภิกษุ สามเณร มาร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการ เพื่อให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ หรือมาบรรยายให้ความรู้กับคณะกรรมาธิการสามารถกราบนิมนต์ได้ และ ได้ขอให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาตินำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อโปรดทราบ ที่ประชุมรับทราบ และตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า พระภิกษุที่ได้รับนิมนต์ไปร่วมประชุม เพื่อให้ข้อมูล หรือบรรยายให้ความรู้แก่คณะกรรมาธิการนั้น ต้องเป็นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา หรือที่เกี่ยวข้องกับกิจการคณะสงฆ์ ห้ามบรรยายหรือให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือไปกระทบกระทั่งกับการเมือง และมอบให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติแจ้งมติมหาเถรสมาคมต่อรัฐสภาทราบ
เอกสารประกอบเพิ่มเติม
เอกสารประกอบ 1 : c_21300865_679 รายงานผลการพิจารณาของคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร.pdf (773.31 kb)
จำนวนเข้าดู : 900
ปรับปรุงล่าสุด : 7 กันยายน พ.ศ. 2565 11:45:30
ข้อมูลเมื่อ : 7 กันยายน พ.ศ. 2565 11:45:30