มติมหาเถรสมาคม
ครั้งที่ 10/2547
มติที่ 143/2547
เรื่อง การประชุมและสัมมนาร่างพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ พ.ศ. .... (ในขั้นการพิจารณาของวุฒิสภา)
มติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๑๐/๒๕๔๗ สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม มติที่ .... เรื่อง การประชุมและสัมมนาร่างพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ พ.ศ. .... (ในขั้นการพิจารณาของวุฒิสภา) ในการประชุมมหาเถรสมาคมครั้งที่ ๑๐/๒๕๔๗ เมื่อวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๔๗ เลขาธิการมหาเถรสมาคมเสนอว่า ตามที่ นายกำพล ภู่มณี สมาชิกวุฒิสภา ได้จัดสัมมนาร่างพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ พ.ศ. .... (ในขั้นการพิจารณาของวุฒิสภา) เมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๔๗ ณ อาคารรัฐสภา ๒ ห้องประชุม ๓๐๑ โดยได้นิมนต์พระสงฆ์ สื่อมวลชน พุทธบริษัท ผู้แทนส่วนราชการจากกรมโยธาธิการและ ผังเมือง สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ รวมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาที่มีส่วนร่วมในการจัดทำร่าง เพื่อได้อภิปรายแสดงความคิดเห็นและซักถามในประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการออกระเบียบเกี่ยวกับการนำที่ดิน ที่วัด ที่ธรณี-สงฆ์ หรือที่ศาสนสมบัติกลางมาใช้ การจัดที่ดินอื่นทดแทน และการเวนคืนที่ดินในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน ตลอดจนอสังหาริมทรัพย์ที่จะจัดเพื่อจำหน่าย โดยให้อำนาจต่อคณะกรรมการฯ พิจารณาว่า หากให้ความเห็นชอบแล้วให้มีผลเป็นการถอนสภาพ โดยมิต้องดำเนินการถอนสภาพหรือโอนตามกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ และสามารถเข้าไปดำเนินการได้ โดยมิต้องขอความยินยอมจากเจ้าของที่ดิน รวมทั้งการออกบทกำหนดโทษผู้ที่ขัดขวางการปฏิบัติงานของคณะกรรมการฯ ให้ต้องระวางโทษจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ ก่อให้เกิดความห่วงใยว่า พระราชบัญญัติมีผลบังคับใช้ จะส่งผลกระทบต่อ ที่ดิน ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือที่ศาสนสมบัติกลางที่จะถูกนำไปใช้ในเชิงธุรกิจหรือเชิงพาณิชย์ - ๒ - อุตสาหกรรม จนหมดสภาพของความเป็นสถานที่ทางพระพุทธศาสนาที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในการเป็นรมณียสถาน และพัฒนาจิตใจของประชาชนให้มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างมีคุณธรรมและจริยธรรมในสังคม ผลการอภิปรายในกรณีดังกล่าว สรุปได้ ๒ แนวทาง ดังนี้ แนวทางที่ ๑ : เห็นชอบให้มีการกำหนดนำที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือที่ศาสน-สมบัติกลาง มาใช้หรือจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ตามพระราชบัญญัติ โดยให้เหตุผลสนับสนุน คือ ๑. เพื่อให้สามารถพัฒนาที่ดิน โดยการวางผัง จัดรูปที่ดินใหม่ เพื่อให้ เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดินที่เหมาะสมยิ่งขึ้นในด้านการคมนาคม เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และชุมชน ๒. มีการกำหนดค่าทดแทนหรือค่าเสียหาย ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการฯ กำหนด ๓. การจัดทำโครงการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ จะต้องประชุมเจ้าของ ที่ดินเพื่อปรึกษาหารือและรับฟังความคิดเห็นนำมาปรับปรุงโครงการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งรวบรวมและแสดงหนังสือให้ความยินยอมของเจ้าของที่ดินที่สมัครใจไว้ให้ชัดเจน ๔. เจ้าของที่ดินในเขตจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ มีสิทธิในที่ดินที่ได้รับการจัดให้ใหม่ตามโครงการจัดรูปที่ดินเหมือนกับสิทธิที่มีอยู่ในที่ดินเดิม ๕. ถ้าจำเป็นต้องนำที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือที่ศาสนสมบัติกลาง มาใช้ในการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ ให้เสนอเรื่องต่อคณะกรรมการฯ พิจารณา โดยจะต้องเชิญ ผู้แทนหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลรักษาที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์นั้นมาร่วมพิจารณาด้วย ๖. กรณีที่คณะกรรมการฯ ให้ความเห็นชอบให้นำที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ของที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือที่ศาสนสมบัติกลาง มาใช้ในโครงการจัดรูปที่ดิน ให้มีอำนาจใช้ภายใต้เงื่อนไขเมื่อมหาเถรสมาคมให้ความเห็นชอบแล้ว - ๓ - ๗. ที่ดิน ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือที่ศาสนสมบัติกลาง ที่ได้รับความเห็นชอบ ให้นำมาใช้ จะเปลี่ยนแปลงสภาพเฉพาะรูปแปลงที่ดินเท่านั้น โดยจำนวนเนื้อที่ของที่ดินรวมกันจะต้องมีขนาดไม่น้อยกว่าเดิม แนวทางที่ ๒ : ไม่เห็นชอบในการนำที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือที่ศาสนสมบัติกลาง มาใช้หรือจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ตามพระราชบัญญัติ โดยมีเหตุผล คือ ๑. ร่างพระราชบัญญัตินี้ มิได้กำหนดหรือรวมถึงการบังคับใช้ในที่ดินของศาสนาอื่น ๒. เนื้อความหรือถ้อยคำในร่างพระราชบัญญัติ ไม่มีความชัดเจนเพียงพอที่จะสร้างความมั่นใจหรือเชื่อถือได้ว่า คณะกรรมการฯ ที่มีอำนาจพิจารณาการตัดสิน ใช้ที่ดิน จะมีความเที่ยงตรงเป็นธรรมเพียงพอ ๓. การให้ความเห็นชอบในการใช้ที่ดินของคณะกรรมการฯ จะมีผลก่อนที่มหาเถรสมาคมให้ความเห็นชอบ และกระทำโดยที่ผู้ดูแลรักษาไม่ได้ทราบหรือได้รับการประสานติดต่อมาก่อน ๔. การกำหนดให้เปลี่ยนแปลงสภาพรูปแปลงที่ดิน อาจไม่สอดคล้องหรือเป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้บริจาค หรือวัตถุประสงค์การจัดรูปแบบและพัฒนาวัด ๕. ร่างพระราชบัญญัตินี้ ได้ดำเนินการโดยไม่เคยประสานกับสำนักงาน- พระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะไม่สามารถชี้แจง ทำความเข้าใจ หรือซักถามในประเด็นที่ขัดแย้งต่อการบริหารจัดการที่ดิน รวมทั้งไม่อาจรายงานสถานการณ์ข้อเท็จจริงต่อมหาเถรสมาคมเพื่อทราบความชัดเจนใด ๆ ได้ ๖. การกำหนดอำนาจของคณะกรรมการฯ ตามร่างพระราชบัญญัติ เป็นการก้าวล่วงต่อพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ และอำนาจบริหารจัดการของมหาเถร-สมาคม ๗. ร่างพระราชบัญญัตินี้ขัดแย้งกับพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ว่าด้วยการโอนกรรมสิทธิ์ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือที่ศาสนสมบัติกลาง - ๔ - จากข้อสรุปในการอภิปราย ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบและดำเนินการดังนี้ ๑. เสนอให้มีการตั้งกรรมาธิการฯ ร่วม ระหว่างกรรมาธิการฯ และวุฒิสภา เพื่อคัดค้านในร่างพระราชบัญญัติ โดยให้ยกเลิกการออกพระราชบัญญัติดังกล่าว หรือยกเลิกการนำที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือที่ศาสนสมบัติกลาง มาใช้ในการจัดรูปที่ดิน ๒. เสนอผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ นำเสนอมหาเถร-สมาคมเพื่อทราบความเห็น โดยเฉพาะการขอยกเลิกการนำที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือที่ศาสน-สมบัติกลาง มาใช้ในการจัดรูปที่ดินตามร่างพระราชบัญญัติ เนื่องจากแนวทางปฏิบัติ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน สามารถนำมาตรา ๓๓ และมาตรา ๓๔ หมวด ๕ ของพระราช-บัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ มาใช้ได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ๓. เพื่อนำเสนอรายงานความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม ในประเด็นปัญหาดังกล่าวต่อรัฐบาล อนึ่ง ได้มีองค์กรทางพระพุทธศาสนาและประชาชนได้คัดค้านและยื่นหนังสือคัดค้านในกรณีดังกล่าวหลายราย สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจึงเห็นควรนำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อโปรดพิจารณา ที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์สินของพระ-พุทธศาสนา ซึ่งเป็นหน้าที่ของสงฆ์จะต้องดูแลรักษาและปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย พระภิกษุรูปใดไม่รักษาสิ่งของที่เป็นของสงฆ์อันเป็นทรัพย์สินของพระพุทธศาสนา จะต้องมีความผิดตามพระวินัย จึงลงมติเป็นเอกฉันท์ว่า ๑. เห็นชอบในการคัดค้านร่างพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ พ.ศ. .... ในมาตราและหรือข้อความใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนำทรัพย์สินของพระพุทธ-ศาสนา มาใช้เพื่อการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว - ๕ - ๒. ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติแจ้งรัฐบาล ผ่านรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) แจ้งประธานวุฒิสภา และแจ้งประธานสภาผู้แทนราษฎร ตามความเห็นและมติข้างต้น ๓. แต่งตั้ง คณะกรรมการติดตามการดำเนินการเกี่ยวกับร่างพระราช-บัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ พ.ศ. .... ประกอบด้วย ๑. สมเด็จพระญาณวโรดม วัดเทพศิรินทราวาส ประธานกรรมการ ๒. พระธรรมวโรดม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม รองประธานกรรมการ ๓. พระวิสุทธาธิบดี วัดสุทัศนเทพวราราม กรรมการ ๔. พระสาสนโสภณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรรมการ ๕. พระพรหมเมธี วัดเทพศิรินทราวาส กรรมการ ๖. พระพรหมมุนี วัดบวรนิเวศวิหาร กรรมการ ๗. พระพรหมวชิรญาณ วัดยานนาวา กรรมการ ๘. พระธรรมเมธาจารย์ วัดบุรณศิริมาตยาราม กรรมการ ๙. พระธรรมสิทธิเวที วัดสระเกศ กรรมการ ๑๐. พระธรรมกิตติเมธี วัดสัมพันธวงศ์ กรรมการ ๑๑. พระธรรมวรเมธี วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรรมการ ๑๒. พระเทพโสภณ ผู้แทนมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรรมการ ๑๓. พระราชกวี ผู้แทนมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย กรรมการ ๑๔. ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการ - ๖ - ๑๕. ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ๑๖. ผู้อำนวยการกองกลาง กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ๑๗. ผู้อำนวยการกองพุทธศาสนสถาน กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ๑๘. ผู้อำนวยการสำนักงานศาสนสมบัติ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ๑๙. ผู้อำนวยการส่วนคุ้มครองพระพุทธศาสนา กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ๒๐. ผู้อำนวยการส่วนงานมหาเถรสมาคม กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ๒๑. ผู้อำนวยการส่วนศาสนวิเทศ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ให้มีหน้าที่ติดตามการดำเนินการเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดิน- เพื่อพัฒนาพื้นที่ พ.ศ. .... และดำเนินการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อย่างใกล้ชิด แล้วนำเสนอ มหาเถรสมาคม และให้ดำเนินการได้ทันที โดยไม่ต้องรอรับรองรายงานการประชุม พลตำรวจโท (อุดม เจริญ) เลขาธิการมหาเถรสมาคม
เอกสารประกอบเพิ่มเติม
เอกสารประกอบ 1 : CCF00392551_00124.pdf (238.3 kb)
จำนวนเข้าดู : 1279
ปรับปรุงล่าสุด : 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 08:00:00
ข้อมูลเมื่อ : 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 08:00:00