มติมหาเถรสมาคม
ครั้งที่ 11/2547
มติที่ 180/2547
เรื่อง การจัดตั้งสำนักงานทรัพย์สินของพระพุทธศาสนา
การจัดตั้งสำนักงานทรัพย์สินของพระพุทธศาสนา เลขาธิการมหาเถรสมาคมเสนอว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้จัดทำรายงานความก้าวหน้าในการจัดตั้งสำนักงานทรัพย์สินของพระพุทธศาสนา เสนอที่ประชุมมหาเถรสมาคมเพื่อโปรดทราบ ดังนี้ ตามที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้เสนอต่อที่ประชุมมหาเถรสมาคม ในการประชุมครั้งที่ ๔/๒๕๔๗ เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ ว่า สำนักงานพระพุทธ-ศาสนาแห่งชาติ โดยสำนักงานศาสนสมบัติ ยังขาดความคล่องตัว ไม่สามารถปฏิบัติงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายในการดูแลรักษา และจัดการศาสนสมบัติกลาง ศาสนสมบัติของวัด และวัดร้าง จึงควรให้มีองค์กรอิสระทำหน้าที่บริหารจัดการแทน เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลดียิ่งขึ้น สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้นำเรื่องนี้ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เพื่อขอความเห็นชอบ และได้รับความเห็นชอบให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณารูปแบบขององค์กร ระเบียบปฏิบัติ รวมทั้งองค์ประกอบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจึงได้ขอผู้แทนมหาเถรสมาคมเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการที่จะแต่งตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการเรื่องดังกล่าว และที่ประชุมมหาเถรสมาคมมีมติให้มีกรรมการมหาเถรสมาคม จำนวน ๔ รูป เป็นที่ปรึกษา นั้น บัดนี้ ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๗๓/๒๕๔๗ ลงวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๔๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาการจัดตั้งสำนักงานทรัพย์สินของพระพุทธ-ศาสนา ประกอบด้วย กรรมการมหาเถรสมาคม ๔ รูป เป็นที่ปรึกษา เจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และบุคคลภายนอก รวมทั้งสิ้น ๒๙ รูป/คน และได้มีการจัดทำร่างเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการฯ เพื่อประกอบการพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้อง คือ ๑. พระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อจัดตั้งระบบองค์การมหาชนที่เป็นองค์กรของรัฐรูปแบบใหม่ ที่ไม่ใช่ส่วนราชการหรือ รัฐวิสาหกิจ เพื่อการบริหารที่คล่องตัว อิสระจากระบบราชการ และมีประสิทธิภาพสูง การจัดตั้งเพียงแต่ออกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง โดยผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) คณะรัฐมนตรี และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา โดยรายละเอียดของพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. ๒๕๔๒ มีสาระสำคัญ รวม ๗ หมวด ๔๔ มาตรา ๒. การจัดทำบันทึกประกอบการจัดตั้งสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระพุทธ-ศาสนา (องค์การมหาชน) (ทพศ.) เพื่อขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) คณะรัฐมนตรี และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ในการขอจัดตั้งองค์การมหาชน โดยใช้ประกอบการพิจารณาควบคู่ไปกับร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระพุทธศาสนา (องค์การมหาชน) (ทพศ.) ได้แก่ เหตุผล ความจำเป็น รูปแบบที่เหมาะสม ศักยภาพของสำนักงานศาสนสมบัติในการจัดตั้งเป็นองค์การมหาชน ตลอดจนแนวทางและโครงสร้างขององค์การที่จะจัดตั้งขึ้น ๓. การจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระพุทธ-ศาสนา (องค์การมหาชน) (ทพศ.) ๔. ขั้นตอนการดำเนินการจัดตั้งสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระพุทธศาสนา (องค์การมหาชน) (ทพศ.) ทั้งนี้ หากดำเนินการตามแผนและรูปแบบที่กำหนด โดยเฉพาะผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดว่าพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ภายในเดือนกันยายน ๒๕๔๗ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเห็นควรนำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อโปรดทราบ จึงขอประทานเสนอที่ประชุมเพื่อโปรดทราบ ที่ประชุมรับทราบ และให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติพิจารณาให้ รอบคอบที่สุด โดยไม่ต้องรีบร้อน และให้ผู้สนใจทุกระดับทราบรายละเอียดอย่างชัดเจน
เอกสารประกอบเพิ่มเติม
เอกสารประกอบ 1 : CCF00392551_00161.pdf (111.05 kb)
จำนวนเข้าดู : 1018
ปรับปรุงล่าสุด : 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 08:00:00
ข้อมูลเมื่อ : 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 08:00:00