มติมหาเถรสมาคม
ครั้งที่ 29/2566
มติที่ 881/2566
เรื่อง แนวทางการปฏิบัติการจัดงานบุญปลอดเหล้า ปลอดบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า
ในการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๒๙/๒๕๖๖ เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๖๖ เลขาธิการมหาเถรสมาคมเสนอว่า สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ได้มีหนังสือ ที่ กท ๐๗๐๙/๑๑๑๕๕ ลงวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ แจ้งว่า ตามที่ มหาเถรสมาคมได้มีมติในการประชุม ครั้งที่ ๑๐/๒๕๕๑ มติที่ ๒๒๒/๒๕๕๑ เรื่อง พระราชบัญญัติเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑ มีบางมาตราที่เกี่ยวข้องกับวัด/ศาสนสถาน ซึ่งกำหนดให้วัด/ศาสนสถาน เป็นเขตห้ามดื่มและห้ามซื้อขาย (มาตรา ๒๗ และ ๓๑) และมีบทกำหนดโทษ คือ ปรับสำหรับผู้ฝ่าฝืน (มาตรา ๔๐ และ ๔๒) และมติในการประชุม ครั้งที่ ๑๓/๒๕๖๒ มติที่ ๒๙๗/๒๕๖๒ เรื่อง ประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้วัดและศาสนสถาน ดำเนินการตามหลักเกณฑ์วิธีการตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. ๒๕๖๐ โดยได้แจ้งให้เจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. ๒๕๖๐ นั้น แต่ยังไม่มีแนวทางในการปฏิบัติให้วัด/ศาสนสถานปลอดบุหรี่ และปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามกฎหมาย สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ได้ประสานกับสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค ได้นำเสนอแนวทางการปฏิบัติ วัดปลอดบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามกฎหมาย และขอความอนุเคราะห์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เสนอมหาเถรสมาคมเพื่อโปรดทราบแนวทางการปฏิบัติการจัดงานบุญปลอดเหล้า ปลอดบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า ดังนี้ ๑. วัด ต้องจัดสภาพแวดล้อมพื้นที่วัดให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ และปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนี้ ๑.๑ มีเครื่องหมายห้ามสูบบุหรี่หรือเขตปลอดบุหรี่ เครื่องหมายห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเขตปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้เห็นชัดเจนว่าเป็นเขตปลอดบุหรี่ เขตปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้ ๑) สติ๊กเกอร์ แผ่นป้าย หรือวัสดุอื่นใดที่ใช้แสดงสัญลักษณ์เขตปลอดบุหรี่ และเขตปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต้องมีพื้นผิวพื้นหลังหรือสีที่ทำให้มองเห็นสัญลักษณ์ และข้อความได้อย่างชัดเจน ๒) แสดงสัญลักษณ์เขตปลอดบุหรี่และปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของวงกลมไม่น้อยกว่า ๑๐๐ มิลลิเมตร ๓) แสดงอักษรข้อความที่มีขนาดใหญ่เห็นได้ชัดเจนเป็นภาษาไทยว่า ห้ามสูบบุหรี่ ฝ่าฝืนมีโทษปรับตามกฎหมาย หรือเป็นภาษาอังกฤษว่า No smoking. It is against the law to smoke in this area หรือข้อความอื่นใดในทำนองเดียวกัน และ ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฝ่าฝืนมีโทษปรับ ตามกฎหมาย ๑.๒ ควบคุม ดูแลไม่ให้มีอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกในการสูบบุหรี่ เช่น กระบะทราย อุปกรณ์สำหรับการเขี่ยหรือทิ้งก้นบุหรี่ เป็นต้น ๒. วัดควรสร้างความเข้าใจ และความร่วมมือกับประชาชนที่มาติดต่อใช้พื้นที่วัดประกอบพิธีกรรมทางศาสนาหรือกิจกรรม ไม่ขายบุหรี่ และขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งไม่ให้มีการสูบบุหรี่ ไม่ให้มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่วัด เช่น ๒.๑ ติดป้ายห้ามสูบบุหรี่ ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฝ่าฝืนมีโทษปรับตามกฎหมายมีขนาดป้ายไม่น้อยกว่า ๖๐ x ๑๐๐ ซม. บริเวณทางเข้า - ออก ของพื้นที่วัด และติดสติ๊กเกอร์ แผ่นป้ายขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของวงกลมไม่น้อยกว่า ๑๐๐ มิลลิเมตร ในสถานที่ที่พระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ตามที่วัดเห็นสมควร ๒.๒ ให้มีการยื่นความจำนงตามแบบฟอร์มที่กำหนด ในการจัดพิธีกรรมทางศาสนาหรือจัดกิจกรรมอื่น ๆ ในพื้นที่วัดที่ไม่ขัดกับระเบียบปฏิบัติของวัด กฎหมายบ้านเมือง และวัตรปฏิบัติของสงฆ์ ๓. พระสงฆ์ ควรเป็นต้นแบบในการไม่สูบบุหรี่ และรณรงค์เผยแพร่ในโอกาสต่าง ๆ โดยสอดแทรกความรู้เกี่ยวกับโทษ พิษภัยของการสูบบุหรี่ และพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งผลกระทบ ต่อร่างกาย เศรษฐกิจ สังคม ปัญหาอาชญากรรม ความรุนแรงในครอบครัว และรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนปฏิบัติตามศีล ๕ เพื่อให้เกิดความตระหนัก และสร้างค่านิยมในการไม่สูบบุหรี่และไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แก่ประชาชน ๔. สามารถขอรับการสนับสนุนสื่อวัดปลอดบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ได้ที่มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ทางเว็บไซด์ https://www.smokefreezone.or.th หรือกรณีมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ โทร. ๐ ๒๕๙๐ ๓๘๕๒ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเห็นควรนำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อโปรดทราบ ที่ประชุมรับทราบ
เอกสารประกอบเพิ่มเติม
เอกสารประกอบ 1 : 29081266_881 แนวทางการปฏิบัติการัดงานบุญปลอดเหล้า ปลอดบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า.pdf (817.88 kb)
จำนวนเข้าดู : 1615
ปรับปรุงล่าสุด : 26 ธันวาคม พ.ศ. 2566 10:47:54
ข้อมูลเมื่อ : 21 ธันวาคม พ.ศ. 2566 14:01:44