มติมหาเถรสมาคม
ครั้งที่ 08/2568
มติที่ 277/2568
เรื่อง คำพิพากษาศาลปกครองกลาง ในคดีหมายเลขดำที่ ๑๓๓/๒๕๖๕ ระหว่างสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ผู้ฟ้องคดี กรมธนารักษ์ ผู้ถูกฟ้องคดี
ในการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๘/๒๕๖๘ เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๘ เลขาธิการมหาเถรสมาคม เสนอว่า ศาลปกครองกลาง ได้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ ๑๓๓/๒๕๖๕ ระหว่าง สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ผู้ฟ้องคดี กรมธนารักษ์ ผู้ถูกฟ้องคดี เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๘ โดยสรุป ดังนี้ คดีนี้ผู้ฟ้องคดี (สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ) ฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลรักษา และพัฒนาที่ดินพุทธมณฑล เนื้อที่ประมาณ ๒,๕๐๐ ไร่ ซึ่งเป็นศาสนสมบัติของพระพุทธศาสนา และเป็นศาสนสมบัติกลาง ตามมาตรา ๔๐ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดี (กรมธนารักษ์) จะนำที่ดินแปลงดังกล่าว ขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุและเข้าปกครองดูแลที่ราชพัสดุแปลงนี้ ตามมาตรา ๘ และมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. ๒๕๖๒ จึงขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีระงับการขึ้นทะเบียนที่ดินพุทธมณฑล เนื้อที่ ๒,๕๐๐ ไร่ เป็นที่ราชพัสดุเนื่องจากที่ดินดังกล่าวเป็นที่ศาสนสมบัติกลาง อันเป็นทรัพย์สินของพระพุทธศาสนา ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๗) ได้มีความเห็นตามเรื่องเสร็จ ที่ ๓๒๙/๒๕๖๓ เรื่อง สถานะของที่ดินพุทธมณฑล สรุปได้ว่า พุทธมณฑลเป็นที่ดินที่ใช้ในกิจการของรัฐ ด้านพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรม การใช้พื้นที่มีความหลากหลาย มิได้จำกัดเฉพาะกิจการของคณะสงฆ์หรือพระศาสนาเท่านั้น และการดำเนินการสร้างพุทธมณฑลในอดีตได้ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีมาโดยตลอด โดยใช้การบริหารราชการแผ่นดิน รวมทั้งคณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นหลายชุดเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการจัดสร้างพุทธมณฑล แม้การใช้ประโยชน์พุทธมณฑลจะมีลักษณะเปิดกว้างไว้ สำหรับเพื่อบริการประชาชนทั่วไปก็ตาม แต่พุทธมณฑลก็มิได้จัดสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ของพลเมืองโดยตรง แต่จัดสร้างขึ้นและใช้ประโยชน์เพื่อกิจการของรัฐด้านพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมโดยเฉพาะ ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ที่ดินพุทธมณฑลจึงมิใช่ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันเว้นแต่บริเวณคลองนา (สาธารณประโยชน์) และไม่เข้าลักษณะเป็นศาสนาสมบัติกลาง ตามมาตรา ๔๐ (๑) แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ เนื่องจากเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินที่รัฐจัดสร้างขึ้น ดังนั้น ที่ดินพุทธมณฑลจึงเป็นทรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ตามมาตรา ๑๓๐๔ (๓) แห่งประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นที่ราชพัสดุ ตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. ๒๕๑๘ และ เป็นที่ราชพัสดุ ตามมาตรา ๖ (๒) แห่งพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. ๒๕๖๒ เว้นแต่บริเวณคลองนา (สาธารณประโยชน์) ที่เป็นทรัพย์สินของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน สำนักงานธนารักษ์พื้นที่นครปฐม จึงได้ดำเนินการสำรวจรังวัดและจัดทำแผนที่แสดงรายละเอียดการใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุแปลงพุทธมณฑลตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม พร้อมทั้งรายงานให้ผู้ถูกฟ้องคดีทราบ และมีหนังสือถึงสำนักงานพุทธมณฑล เพื่อขอให้สำรวจรายการที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินราชพัสดุแปลงพุทธมณฑลขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุตามแบบรายการส่ง - รับที่ราชพัสดุขึ้นทะเบียน (แบบ ทร ๐๓, ๐๔) จัดส่งให้สำนักงานธนารักษ์พื้นที่นครปฐม เพื่อดำเนินการรับขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุต่อไป ศาลปกครองกลาง พิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า พุทธมณฑลสร้างขึ้น ตามเจตนารมณ์เพื่อเป็นอนุสรณ์ในการเฉลิมฉลองงาน ๒๕ พุทธศตวรรษ โดยพิจารณาได้จากปูชนียสถาน ที่สร้างขึ้นในพุทธมณฑลล้วนแต่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น ส่วนในการจัดหาที่ดินนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับซื้อที่ดินของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จำนวน ๑๓๕ ไร่ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ทั้งได้มีประชาชน ผู้เลื่อมใสศรัทธาบริจาคเงินเพื่อซื้อที่ดินถวายเป็นพุทธบูชาและร่วมสมทบในการสร้างพระพุทธรูปและ พุทธมณฑล เป็นเงินจำนวน ๒,๗๖๔,๒๕๖.๘๒ บาท รวมถึง ฯพณฯ อูนุ นายกรัฐมนตรีพม่า ได้มอบเงินให้จำนวน ๕๐,๐๐๐ จาด นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากการจำหน่ายพระเครื่อง พระพุทธรูป แสตมป์ ปฏิทินและเสมาที่ระลึก โดยเป็นการร่วมแรงร่วมใจในการจัดสร้างพุทธมณฑลตามนโยบายของรัฐบาลอีกด้วย จนรวบรวมที่ดินได้จำนวน ๒,๒๐๕ ไร่ ๙๖ ตารางวา ที่ดินที่ได้มาดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่มีผู้ถวายให้แก่พระศาสนา แต่ปรากฏว่ายังขาดอีกจำนวน ๒๙๔ ไร่ ๓ งาน ๔ ตารางวา จึงจะครบ ๒,๕๐๐ ไร่ ตามที่กำหนดไว้ รัฐบาลจึงได้มีการเวนคืนที่ดินจำนวนที่ยังขาดอยู่ แต่ก็เพื่อให้การดำเนินการจัดสร้างพุทธมณฑลสำเร็จลุล่วงตามเจตนารมณ์เท่านั้น หาได้มีวัตถุประสงค์ที่จะนำที่ดินไปใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ หรือเพื่อประโยชน์ของทางราชการตามกฎหมายแต่อย่างใด กรณีนี้จึงต้องถือว่าเจตนารมณ์ทั้งของสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐบาล และประชาชนชาวไทย ในการจัดซื้อและจัดหาที่ดินเนื้อที่ รวม ๒,๕๐๐ ไร่ จัดสร้างพุทธมณฑลก็เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและอุทิศให้พระพุทธศาสนา ดังนั้น ที่ดินพุทธมณฑลจึงเป็นทรัพย์สิน ของพระศาสนา เมื่อได้พิจารณาข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว จึงรับฟังเป็นยุติว่า พุทธมณฑล เป็นพุทธสถานที่ตั้งขึ้น เพื่อประโยชน์ในทางพระพุทธศาสนา ประกอบกับเมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าที่ดินพุทธมณฑลเป็นทรัพย์สินของพระศาสนา และเมื่อที่ดินดังกล่าวมิใช่ของวัดใดวัดหนึ่ง ดังนั้น ที่ดินพุทธมณฑลจึงเป็นศาสนสมบัติกลาง ตามมาตรา ๔๖ (๑) แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่จัดตั้งพุทธมณฑล และตามมาตรา ๔๐ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับ อยู่ในปัจจุบัน ที่มีผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ดูแลรักษาและจัดการ รวมทั้งเป็นเจ้าของ ตามมาตรา ๔๐ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว อันเป็นที่ดินที่มีกฎหมายเฉพาะบัญญัติ ยกเว้นไว้ไม่ให้ถือเป็นที่ราชพัสดุ ทั้งนี้ ตามมาตรา ๗ (๗) แห่งพระราชบัญญัติที่ที่ราชพัสดุ พ.ศ. ๒๕๖๒ เมื่อศาลปกครองกลาง ได้วินิจฉัยมาแล้วว่า ที่ดินพุทธมณฑลเป็นทรัพย์สินของพระศาสนา อันเป็นศาสนสมบัติกลาง มิใช่ที่ราชพัสดุตามกฎหมายที่ราชพัสดุ ฉะนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่มีอำนาจหน้าที่ ตามมาตรา ๑๗ และมาตรา ๑๘ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ประกอบข้อ ๖ (๑๖) ของระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการปกครอง ดูแล บำรุงรักษา และการใช้ที่ราชพัสดุ พ.ศ. ๒๕๔๖ ให้ผู้ฟ้องคดี ทำการสำรวจรังวัด และจัดทำแผนที่รายละเอียดที่ราชพัสดุแปลงพุทธมณฑลพร้อมสิ่งปลูกสร้าง แล้วนำส่ง ขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุและบริหารจัดการพื้นที่ให้เป็นไปตามกฎหมายที่ราชพัสดุแต่อย่างใด ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีโดยสำนักงานธนารักษ์พื้นที่นครปฐม ได้มีหนังสือให้ผู้ฟ้องคดีสำรวจรังวัด และจัดทำแผนที่รายละเอียด ที่ราชพัสดุ แปลงพุทธมณฑลพร้อมสิ่งปลูกสร้าง นำส่งขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุและบริหารจัดการพื้นที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย และได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีสำรวจรายการที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินราชพัสดุ แปลงพุทธมณฑลขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุตามแบบรายการส่ง - รับที่ราชพัสดุขึ้นทะเบียนจัดส่งให้สำนักงานธนารักษ์พื้นที่นครปฐม เพื่อดำเนินการรับขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุต่อไป จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พิพากษาห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีนำที่ดินพุทธมณฑล เนื้อที่ ๒,๕๐๐ ไร่ ขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ศาลได้อ่านคำพิพากษาให้คู่กรณีที่มาศาลฟังและได้แจ้งสิทธิการอุทธรณ์คำพิพากษาภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้มีคำพิพากษาให้คู่กรณีที่มาศาลทราบแล้ว เสร็จสิ้นการอ่านคำพิพากษา เวลา ๑๐.๕๐ นาฬิกา อนึ่ง หากคดีถึงที่สุดแล้ว ให้มีคำสั่งไปยังสำนักบังคับคดีปกครองเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานบังคับคดีดำเนินการให้เป็นไปตามคำบังคับของศาล และให้มีหมายแจ้งคำบังคับไปยังลูกหนี้ตามคำพิพากษา ทั้งนี้ ตามข้อ ๑๒๕ และข้อ ๑๓๐ แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการ ในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เห็นควรนำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อโปรดทราบ ที่ประชุมรับทราบ
เอกสารประกอบเพิ่มเติม
เอกสารประกอบ 1 : 08200368_277 คำพิพากษาศาลปกครองกลาง ในคณีหมายเลขดำที่ 133-2565 ระหว่าง พศ ผู้ฟ้องคดี กรรมธนารักษ์ ผู้ถูกฟ้องคดี.pdf (2.84 mb)
จำนวนเข้าดู : 292
ปรับปรุงล่าสุด : 27 มีนาคม พ.ศ. 2568 10:16:08
ข้อมูลเมื่อ : 27 มีนาคม พ.ศ. 2568 10:16:08