มติมหาเถรสมาคม
ครั้งที่ วาระพิเศษ ครั้งที่ 1/2568
มติที่ 569/2568
เรื่อง แนวทางดำเนินการกรณีพระภิกษุกระทำผิดและถูกล่าวหาว่ากระทำผิดพระธรรมวินัยประเภทครุกาบัติ
ในการประชุมมหาเถรสมาคม วาระพิเศษ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๘ เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๖๘ เลขาธิการมหาเถรสมาคม เสนอว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระบัญชาโปรดให้ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในฐานะเลขาธิการมหาเถรสมาคม เรียกประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งพิเศษโดยด่วน โดยเหตุที่ทรงพระปรารภห่วงใยสถานการณ์ปัจจุบันอันปรากฏกรณีพระภิกษุซึ่งเป็นเจ้าคณะพระสังฆาธิการ เจ้าอาวาส และผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของพุทธบริษัท กระทำผิดพระธรรมวินัยประเภทครุกาบัติ และถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดพระธรรมวินัยประเภทครุกาบัติ กระทบกระเทือนต่อศรัทธาของพุทธศาสนิกชน อีกทั้งส่งผลเสียต่อความมั่นคงของสถาบันพระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ อันเป็นหนึ่งในสถาบันหลักของราชอาณาจักรไทย จึงมีพระบัญชาโปรดให้มหาเถรสมาคม ประชุมหารือเพื่อแสวงหาแนวทางแก้ไข ปรับปรุงแนวทางดำเนินการกรณีพระภิกษุถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดพระธรรมวินัยประเภทครุกาบัติ ให้สมสมัย และสอดคล้องกับสถานการณ์อันเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากนับจากอดีต ซึ่งแม้มีกฎหมาย กฎ ระเบียบ คำสั่ง มติ และกระบวนการอยู่แล้ว แต่ในบัดนี้ อาจพ้นสมัย ไม่เท่าทันสำหรับป้องกันและแก้ไขปัญหาเพื่อจักได้ทรงพระวินิจฉัย แล้วจักได้มีพระลิขิตนำความถวายพระพร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อัครพุทธศาสนูปถัมภก เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยในการพระราชทานอารักขาและพระบรมราชูปถัมภ์ต่อไป สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้ติดตามข้อมูลข่าวสารที่ปรากฏในสื่อสังคมสื่อออนไลน์และสื่อมวลชน เกี่ยวกับสถานการณ์ที่มีพระภิกษุกระทำผิดพระธรรมวินัยประเภทครุกาบัติ กระทบกระเทือนศรัทธาของพุทธศาสนิกชนต่อคณะสงฆ์อย่างรุนแรง จำเป็นต้องดำเนินการป้องกันแก้ไขโดยเร่งด่วน แต่ต้องรอบคอบ รัดกุม และสอดคล้องต้องด้วยหลักพระธรรมวินัยและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รายละเอียดตามเอกสารที่แนบถวายมาพร้อมนี้ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เห็นควรเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อโปรดพิจารณา ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบ ดังนี้ ๑. มอบหมายสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ประสานสำนักงานตำรวจสอบสวนกลาง ให้จัดส่งข้อมูลและพยานหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิดพระธรรมวินัยประเภทครุกาบัติของพระภิกษุตามที่ปรากฏในสารบบข้อมูลและพยานหลักฐานที่เจ้าพนักงานได้ยึดหรือเก็บรักษาไว้ ทั้งที่มีอยู่ ณ ปัจจุบันหรือที่อาจปรากฏขึ้นอีกในภายหน้า เกี่ยวกับกรณีนี้ถวายแด่เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก หนกลาง หนเหนือ หนใต้ หรือเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต ซึ่งเป็นเจ้าคณะผู้ปกครองของพระภิกษุรายที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดพระธรรมวินัยประเภทครุกาบัติ และให้เจ้าคณะใหญ่เรียกตัวพระภิกษุรายนั้นมาสืบสวนข้อเท็จจริง หากกรณีปรากฏพยานหลักฐานชัดแจ้ง ให้ดำเนินการให้สละสมณเพศ หากพระภิกษุผู้ถูกกล่าวหาประสงค์จะโต้แย้งหรือมีพยานหลักฐานแย้ง ให้เจ้าคณะใหญ่พิจารณาดำเนินการตามควรแก่กรณี ทั้งนี้ ต้องเป็นไปโดยรวดเร็วและเด็ดขาด และให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เข้าประสานความร่วมมือ สนับสนุนการดำเนินการของเจ้าคณะใหญ่โดยใกล้ชิด ๒. เพื่อป้องกันแก้ไขโดยเร่งด่วน แต่ต้องรอบคอบ รัดกุมและสอดคล้อง ต้องด้วยหลัก พระธรรมวินัยและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การนี้ ในระยะเร่งด่วนเฉพาะหน้า เจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ตั้งแต่ระดับเจ้าคณะใหญ่จนถึงเจ้าอาวาส ตลอดจนพระวินยาธิการ ต้องสำนึกในหน้าที่และทำตามหน้าที่ให้สมกับตำแหน่งที่ดำรงอยู่ โดยให้เจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ทุกระดับ ดำเนินการตรวจสอบ ดูแล และกำกับพฤติกรรมของพระภิกษุในปกครองอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ ตามพระธรรมวินัย กฎหมาย กฎ ระเบียบ คำสั่ง มติคณะสงฆ์ และพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช หากปรากฏพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายละเมิด พระธรรมวินัย ให้เร่งดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงตามกฎมหาเถรสมาคมโดยมิชักช้า แล้วรายงานต่อ มหาเถรสมาคมโดยเร็ว นอกจากนี้ ให้เน้นย้ำความสำคัญการดำเนินงานของคณะสงฆ์ในด้านการปกครอง การศาสนศึกษา และการเผยแผ่พระพุทธธรรมในพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และมติบูรพาจารย์ ที่กำหนดหลักสูตรและวิธีการโดยชอบด้วยวิธีวิทยา และตามหลักไตรสิกขา ขอให้กวดขันพระภิกษุสามเณรในปกครองให้งดพฤติกรรมโน้มน้าวใจประชาชนให้หลงใหลนิยมในวัตถุปัจจัย กับทั้งพิธีกรรมนอกหลักพระพุทธศาสนา และพุทธศาสนประเพณี ๓. มหาเถรสมาคม กำหนดนโยบายกรณีพระภิกษุถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดพระธรรมวินัยประเภทครุกาบัติ ดังนี้ ๓.๑ กรณีพระภิกษุกระทำความผิดทางพระธรรมวินัย หากปรากฏว่ามีมูลหรือเข้าข่ายละเมิดพระวินัย ให้เจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ตามลำดับชั้น ออกคำสั่งพักการปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อน เพื่อประโยชน์แก่การดำเนินการตามพระธรรมวินัยและกฎหมาย และเป็นหน้าที่ของมหาเถรสมาคม และพระสังฆาธิการตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา ๒๔ - ๒๗ โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะเป็นผู้รับผิดชอบในการประสานงานและสนับสนุนการดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าว ๓.๒ ให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ที่มิใช่เจ้าคณะพระสังฆาธิการ ผู้มีตำแหน่งหน้าที่ปกครอง หรือมิใช่เจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยกิจการพระพุทธศาสนาและการคณะสงฆ์ แต่พบเห็นพยานหลักฐาน หรือพฤติการณ์กรณีพระภิกษุกระทำความผิดทางพระธรรมวินัย และมีกุศลเจตนาต่อการปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ เข้าบูรณาการความร่วมมือกับเจ้าคณะพระสังฆาธิการ พระวินยาธิการ และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อจักได้ดำเนินการตามขั้นตอนทางพระธรรมวินัย กฎหมาย และกฎมหาเถรสมาคม ทั้งนี้ ในกรณีที่พระภิกษุกระทำผิดวินัยประเภทครุกาบัติ มหาเถรสมาคมและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ไม่มีนโยบายที่จะช่วยเหลือ ปกปิด หรือบิดเบือนข้อเท็จจริงแต่อย่างใด แต่ยังจำเป็นต้องดำเนินการตรวจสอบและให้สละสมณเพศตามระเบียบ และกฎมหาเถร-สมาคม ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๒๑) ว่าด้วยการลงนิคหกรรม ซึ่งตราขึ้นตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามหลักพระธรรมวินัยและธรรมาภิบาล หากยังไม่มีมูลความผิดทางกฎหมายบ้านเมือง และเป็นเพียงการละเมิดพระวินัย จักต้องดำเนินการตามกระบวนการเป็นลำดับชั้นตามหลักการปกครองคณะสงฆ์เป็นที่ยุติ อนึ่ง เจ้าคณะพระสังฆาธิการผู้ปกครองคณะสงฆ์ตามลำดับชั้นรูปใด ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต นอกจากจะละเมิดจริยาพระสังฆาธิการอันมีโทษแล้ว ยังอาจเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ในฐานะที่ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาด้วย ๓.๓ ในกรณีที่ยังไม่มีคำพิพากษา การลงโทษตามกระบวนการนิคหกรรม หรือหลักฐานยืนยันความผิดอย่างชัดเจน ทั้งตามกฎหมายบ้านเมืองและพระธรรมวินัย พึงระมัดระวังการให้ข้อมูลต่อสื่อมวลชน และสาธารณชน ด้วยเหตุที่ผู้ถูกกล่าวหาย่อมถูกสันนิษฐานว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะต้องคำพิพากษา หรือคำตัดสินว่ากระทำความผิด ดังนั้น การเปิดเผยชื่อ ภาพ หรือข้อมูลส่วนบุคคล จึงอาจเข้าข่ายละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อพระภิกษุ และคณะสงฆ์โดยมิชอบด้วยเหตุผล ดังมีกรณีตัวอย่างปรากฏแล้วว่า พระภิกษุบางรูปที่มิได้กระทำความผิด หรือยังอยู่ระหว่างกระบวนการพิสูจน์ หรือถูกสันนิษฐานว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ จำต้องได้รับผลร้ายจากการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่คลาดเคลื่อน ๔. ให้เร่งปรับปรุงกลไกการทำงานเชิงบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปอย่างเข้มงวด รวดเร็ว รอบคอบ และรัดกุม โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ต้องทำหน้าที่เป็นหน่วยประสานหลักระหว่างคณะสงฆ์ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับพระภิกษุผู้ถูกกล่าวหา ชอบด้วยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ และที่แก้ไขเพิ่มเติม และให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติทำหน้าที่รับเรื่องราว ประมวลข้อมูล ข้อเท็จจริง พร้อมเสนอ แนวทางการดำเนินการต่อมหาเถรสมาคม เพื่อประกอบดำริในการตรากฎหมาย กฎ ระเบียบ ออกคำสั่ง หรือมีมติ หรือนำความกราบทูลสมเด็จพระสังฆราช เพื่อขอประทานพระวินิจฉัย อนึ่ง หากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ยังบกพร่องด้วยสรรพกำลัง ทั้งเชิงโครงสร้าง อำนาจตามกฎหมาย ศักยภาพบุคลากร ความรู้ความสามารถ กำลังงบประมาณ และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ขอให้รัฐบาลซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบเชิงนโยบายโดยตรง ได้โปรดพิจารณา วิเคราะห์สภาพปัญหาเชิงลึกอย่างจริงจังและรอบด้าน เพื่อจักได้กำหนดแนวทางปรับโครงสร้าง ปรับปรุง พัฒนาองค์กรและบุคลากร ให้สอดคล้องต้องด้วยพันธกิจในการสนองงานคณะสงฆ์ กับทั้งอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ตามหน้าที่และอำนาจต่อไปได้อย่างยั่งยืน ๕. กระบวนการทั้งปวงต้องจัดลำดับความสำคัญของการตรากฎหมาย กฎ ระเบียบ ออกคำสั่ง หรือมีมติ ตามหลักความสำคัญเชิงนโยบาย ดังนี้ ๕.๑ หลักพระธรรมวินัย ซึ่งเป็นหลักการสูงสุดสำหรับวินิจฉัยกรณีพระภิกษุผู้กระทำละเมิดพระวินัย ๕.๒ หลักความยุติธรรม ปราศจากอคติ รอบคอบ รัดกุม รวดเร็ว เป็นอิสระ คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ๕.๓ หลักการปกครองคณะสงฆ์ตามพระธรรมวินัย กฎหมาย กฎ ระเบียบ คำสั่ง และมติโดยชอบ โดยเจ้าคณะพระสังฆาธิการผู้ปกครองคณะสงฆ์ตามลำดับ สิ้นสุดที่มหาเถรสมาคม และพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ทั้งนี้ การปกครองบังคับบัญชาคณะสงฆ์ ต้องกระทำโดยผู้มีอำนาจตามพระธรรมวินัยและกฎหมายเท่านั้น ๕.๔ หลักการบังคับใช้พระธรรมวินัย กฎหมาย กฎ ระเบียบ คำสั่ง และมติ อันเป็นส่วนปกครองคณะสงฆ์ อย่างเข้มงวด จริงจังต่อผู้ละเมิดพระวินัย โดยได้ดุลยภาพกับการปกป้องคุ้มครองผู้บริสุทธิ์ หรือผู้ถูกสันนิษฐานว่ายังบริสุทธิ์ มิให้ได้รับผลร้ายจากกระบวนการอันมิชอบด้วยพระธรรมวินัย กฎหมาย กฎ ระเบียบ คำสั่ง และมติคณะสงฆ์ อีกทั้งความเสียหายจากกระแสข้อมูลข่าวสาร อันคลาดเคลื่อน ๖. แนวทางการทบทวนและปรับปรุงกฎระเบียบของคณะสงฆ์ว่าด้วยการกระทำผิดพระธรรมวินัยประเภทครุกาบัติ มหาเถรสมาคมเห็นควรขอประทานพระวินิจฉัยสมเด็จพระสังฆราช มีพระบัญชาโปรดให้แต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อคุ้มครองพระพุทธศาสนาขึ้นคณะหนึ่ง โดยมีหน้าที่ศึกษาและทบทวนกฎมหาเถรสมาคมที่เกี่ยวข้องกับนิคหกรรม อำนาจตามกฎหมายของพระสังฆาธิการ พระวินยาธิการ และข้าราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ขั้นตอนการสืบสวนสอบสวน แนวทางการสื่อสารกับสาธารณชน และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของพระภิกษุผู้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา หรือ ถูกสันนิษฐานว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์ รวมถึงแนวทางบูรณาการภารกิจร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ให้เหมาะสม กับสภาวการณ์ปัจจุบัน โดยไม่ขัดต่อพระธรรมวินัย อนึ่ง ให้เลขาธิการมหาเถรสมาคมนำความกราบทูลสมเด็จพระสังฆราช ทราบฝ่าพระบาท เพื่อขอประทานพระวินิจฉัย ในการกำหนดชื่อหน่วยงานที่สมควรเข้าร่วมภารกิจ กับทั้งคณะบุคคล และบุคคล ผู้สมควรได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นองค์ประกอบของคณะกรรมการ อีกทั้งขอประทานพระนโยบายในการกำหนดหน้าที่และอำนาจ ๗. มหาเถรสมาคมน้อมรับพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชให้ดำเนินการโดยเร่งด่วน โดยมหาเถรสมาคม และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จะบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ ที่มีข้อมูลและพยานหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิดของภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ทั้งนี้ มหาเถรสมาคม มีหน้าที่ธำรงรักษาพระธรรมวินัยและจริยาของคณะสงฆ์ หากความปรากฏว่ารูปใดต้องอาบัติปาราชิก ถือว่าสิ้นสุดความเป็นพระภิกษุทางวินัย และต้องสละสมณเพศตามกฎหมายโดยทันที ส่วนในกรณีที่แม้อาบัติ ยังไม่ถึงขั้นปาราชิก แต่มีความร้ายแรงรองลงมา เช่น อาบัติสังฆาทิเสสทั้ง ๑๓ ข้อ หากผู้ต้องอาบัตินั้น ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะพระสังฆาธิการหรือเป็นผู้ได้รับสมณศักดิ์ เมื่อความปรากฏหรือกระบวนการนิคหกรรมพิสูจน์แล้วว่าต้องอาบัติดังกล่าว แม้จะยังคงสถานะภิกษุอยู่ ก็ถือว่าเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง มหาเถรสมาคมจะดำเนินการปลดจากตำแหน่งเจ้าคณะพระสังฆาธิการทุกรูป และจะมีมติขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตถอดสมณศักดิ์ต่อไป มหาเถรสมาคมได้เร่งสนองพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ในการประชุมวาระพิเศษ ตามที่ ทรงพระปรารภกรณีมานี้ ก็ด้วยความห่วงใยต่อความมั่นคงสถาพรของคณะสงฆ์ดุจกัน ฉะนั้น แนวทางดำเนินการกรณีพระภิกษุถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดพระธรรมวินัยประเภทครุกาบัติ ตามสารัตถะข้างต้น จึงเป็นไปเพื่อประกอบพระดำริสมเด็จพระสังฆราช ด้วยเจตนารมณ์ร่วมของกรรมการมหาเถรสมาคมทุกรูป สำหรับมีพระลิขิตนำความถวายพระพร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อัครพุทธศาสนูปถัมภก เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยในการพระราชทานอารักขาและพระบรมราชูปถัมภ์ต่อไป ๘. มอบสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ๙. ให้ดำเนินการได้ทันที โดยไม่ต้องรอรับรองรายงานการประชุม
เอกสารประกอบเพิ่มเติม
เอกสารประกอบ 1 : วาระพิเศษ ครั้งที่ 1-2568 แนวทางดำเนินการกรณีพระภิกษุำกระทำผิด ฯ_0001.pdf (2.18 mb)
จำนวนเข้าดู : 95
ปรับปรุงล่าสุด : 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 14:55:59
ข้อมูลเมื่อ : 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 14:51:08