มติมหาเถรสมาคม
ครั้งที่ 08/2549
มติที่ 156/2549
เรื่อง เข้าประชุมปรึกษาหารือเรื่อง การละเมิดสิทธิส่วนบุคคลผู้ที่ต้องการอุปสมบท
มติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๘/๒๕๔๙ สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม มติที่ ............................................ . เรื่อง เข้าประชุมปรึกษาหารือเรื่อง การละเมิดสิทธิส่วนบุคคลผู้ที่ต้องการอุปสมบท เรียน ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม ในการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๘/๒๕๔๙ เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๔๙เลขาธิการมหาเถรสมาคมเสนอว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมปรึกษาหารือกรณีแพทย์หญิงประคอง วิทยาศัย ร้องเรียนว่า ได้พบปัญหาการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้ที่ต้องการอุปสมบท ซึ่งต้องตรวจโลหิตเพื่อหา Anti HIV ก่อน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและร่วมกันหาทางออกในเรื่องร้องเรียนดังกล่าว เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๔๙ เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ถนนพญาไท เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ในการนี้ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้มอบให้สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม ส่วนคุ้มครองพระพุทธศาสนา เข้าร่วมประชุมในวัน เวลา และสถานที่ดังกล่าวแล้ว ผลการประชุมสรุปดังนี้ ๑. เป็นการประชุมหารือร่วมกันระหว่างคณะอนุกรรมการด้านสุขภาพอนามัย และผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ร้อง และผู้แทนสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ประดิษฐ์ เจริญไทยทวี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นประธานที่ประชุม ๒. ประธานฯ แจ้งว่า แนวทางที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติตอบ ซึ่งมี ๔ ข้อนั้น ถูกต้องแล้ว การที่จะให้กฎหมายมาลบล้างข้อพุทธบัญญัติซึ่งพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้แล้วในสมัยพุทธกาล คงไม่ถูกต้อง หากผู้เข้ามาบวชเป็นเอดส์กันเป็นจำนวนมาก คงจะไม่สมควรอย่างยิ่ง คณะสงฆ์ให้สิทธิแก่พระอุปัชฌาย์ที่จะให้การบรรพชาอุปสมบทแก่บุคคล จำต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ หากปล่อยให้ผู้ติดเชื้อเอดส์ เข้ามาบวชโดยไม่ตรวจสอบก่อน จะทำให้คนในสังคมเข้าใจว่าผู้บวชรับเชื้อเอดส์หลังจากบวชพระแล้ว - ๒ - ๓. แพทย์หญิงประคอง วิทยาศัย ผู้ร้อง อ้างว่า ได้พบพระภิกษุสามเณรบางภูมิภาคติดเชื้อเอดส์กันมาก และส่วนหนึ่งได้รับเชื้อหลังจากเข้ามาบวชแล้ว จึงประสงค์จะถวายความรู้แก่พระอุปัชฌาย์เกี่ยวกับเอดส์และด้านสิทธิมนุษยชน ๔. ผู้แทนสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติชี้แจงว่า คณะสงฆ์มีโครงการอบรมพระอุปัชฌาย์เป็นประจำทุกปี และการถวายความรู้แก่พระอุปัชฌาย์เป็นเรื่องที่ดี แต่ยังไม่ทราบว่าจะแบ่งเวลาให้ได้หรือไม่ พระอุปัชฌาย์จะมีความประสงค์จะรับหรือไม่ เป็นสิทธิของพระอุปัชฌาย์ และหากจะถวายความรู้แก่พระสงฆ์ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นพระอุปัชฌาย์เท่านั้น อาจจะเป็นพระ- สังฆาธิการทุกระดับ เพราะพระสงฆ์เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ หากพระสงฆ์ได้มีความรู้ไว้บ้างและสามารถแนะนำประชาชนก็เป็นสิ่งที่น่าจะทำได้ดี แต่การถวายความรู้ก็จะต้องมีขั้น มีระดับ ไม่ใช่บอกรายละเอียดด้านเพศสัมพันธ์ทุกอย่าง เพราะการเรียนรู้บางทีก็เป็นดาบสองคม ซึ่งพระสงฆ์ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นปุถุชน ๕. ประธานฯ ขอให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาตินำเสนอมหาเถรสมาคม เพื่อให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ส่งผู้ที่มีความรู้ด้านสุขภาพอนามัย และผู้สูงอายุ ผู้พิการ ไปบรรยายถวายความรู้แก่พระอุปัชฌาย์ เมื่อมีโครงการอบรมพระอุปัชฌาย์ประจำปี หรือตามแต่จะเห็นสมควร โดยสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเห็นควรนำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อโปรดพิจารณาในข้อ ๕ ที่ประชุมพิจารณาแล้วลงมติเห็นชอบตามที่เสนอในข้อ ๕ จึงเรียนมาเพื่อโปรดมอบส่วนคุ้มครองพระพุทธศาสนาดำเนินการต่อไป (นายพิศาล แช่มโสภา) ผู้อำนวยการส่วนงานมหาเถรสมาคม มอบส่วนคุ้มครองพระพุทธศาสนาดำเนินการต่อไป (นางจุฬารัตน์ บุณยากร) ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม
เอกสารประกอบเพิ่มเติม
เอกสารประกอบ 1 : CCF01092551_00052.pdf (98.51 kb)
จำนวนเข้าดู : 2789
ปรับปรุงล่าสุด : 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 08:00:00
ข้อมูลเมื่อ : 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 08:00:00