มติมหาเถรสมาคม
ครั้งที่ 14/2551
มติที่ 285/2551
เรื่อง รายงานผลการประชุมสัมมนาทางวิชาการศูนย์อาเซียนศึกษา
ในการประชุมมหาเถรสมาคมครั้งที่ ๑๔/๒๕๕๑ เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๑ เลขาธิการมหาเถรสมาคมเสนอว่า พลโท สืบพงศ์ เปาวรัตน์ รองผู้บัญชาการสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ทำการแทนผู้บัญชาการสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ/ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษาฯ ได้มีหนังสือ ที่ กห ๐๓๑๘ ศอศ./๒๑ ลงวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๑ แจ้งว่า สถาบันวิชาการ-ป้องกันประเทศ/ศูนย์อาเซียนศึกษา สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ได้จัดประชุมสัมมนาทางวิชาการครั้งที่ ๕/๕๑ เรื่อง การเลือกตั้งของมาเลเซีย ปี ๕๑ : ผลกระทบต่อประเทศไทย เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๑ ณ ห้องประชุมชั้น ๖ อาคารกองบัญชาการสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ในการนี้ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ/ศูนย์อาเซียนศึกษาฯ ได้จัดทำสรุปประเด็นสำคัญของการประชุมฯ เรียบร้อยแล้ว ดังนี้ ๑. สรุปสาระสำคัญ ๑.๑ สภาวะแวดล้อมของมาเลเซีย ก่อนและหลังการเลือกตั้ง สถานการณ์ก่อนการเลือกตั้ง มาเลเซียประสบปัญหาภายในประเทศทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม อาทิ ความแตกแยกภายในพรรค การคอรัปชั่นของชนชั้นสูงทางเศรษฐกิจและผู้มีอำนาจทางการเมือง รวมถึงปัญหาภายในพรรคร่วมรัฐบาล ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศ โดยเฉพาะการปรับขึ้นราคาน้ำมัน ทั้งที่เป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายหนึ่งของโลก ปัญหาดังกล่าวล้วนส่งผลให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา นายบาดาวีฯ และรัฐบาลอย่างมาก ทำให้นายบาดาวีฯ ตัดสินใจยุบสภาและเร่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ ขณะเดียวกันพรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นจุดอ่อนต่าง ๆ ของฝ่ายรัฐบาล จึงได้ชูประเด็นยกเลิกนโยบายภูมิบุตร และให้ความสำคัญกับการปราบปรามคอรัปชั่น แม้ว่าจะประสบปัญหาการควบคุมสื่อต่าง ๆ และภายหลังการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๕๑ ผลปรากฏว่าพรรค UMNO ได้เสียงข้างมาก แต่ไม่ถึง ๒ ใน ๓ คือ ได้ ๑๔๐ ที่นั่ง จาก ๒๒๒ ที่นั่ง และยังแพ้ในระดับสภานิติบัญญัติแห่งรัฐอีก ๕ รัฐ คือ รัฐกลันตัน เคดะห์ ปีนัง เประ และรัฐสลังงอร์ ขณะเดียวกันพรรคร่วมฝ่ายค้านได้รับเลือกตั้งมากถึง ๘๒ ที่นั่ง จากเดิมได้เพียง ๑๙ ที่นั่ง และได้สิทธิที่จะควบคุมสภานิติบัญญัติ ๕ รัฐ จาก ๑๓ รัฐ โดยเฉพาะรัฐสลังงอร์และรัฐปีนัง เป็น ๒ รัฐหลักสำคัญของมาเลเซีย ๑.๒ ผลกระทบภายหลังการเลือกตั้ง ๑.๒.๑ ผลจากการเลือกตั้งทำให้นายบาดาวีฯ ถูกกดดันและให้รับผิดชอบด้วยการลาออก นายราซาลี ฮัมซะฮ์ ยังประกาศลงแข่งขันชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค จึงเป็นการเพิ่มรอยร้าวในพรรคมากขึ้น โดยจะให้มีการคัดเลือกหัวหน้าพรรคใหม่ ในเดือนธันวาคม ๒๕๕๑ รัฐบาลจึงเร่งแก้ปัญหาด้วยการจัดทำแผนปฏิรูปการเมืองและแผนปฏิรูปเศรษฐกิจ เพื่อกู้ศรัทธาและสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชน นักลงทุนต่างชาติ และนานาประเทศ นอกจากนี้ การได้รับชัยชนะเหนือพรรคร่วมรัฐบาลใน ๕ รัฐ ทำให้พรรคฝ่ายค้านเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยมีนโยบายบริหารประเทศที่สำคัญคือ การล้มนโยบายภูมิบุตรและส่งเสริมแนวคิดการปกครองแบบอูลาหม่าที่เคร่งศาสนา โดยให้ศาสนานำเศรษฐกิจแทนแนวทางอิสลาม ฮาดารี ๑.๒.๒ การพลิกผันทางการเมืองของมาเลเซียส่งผลกระทบต่อประเทศไทย คือ การที่พรรคร่วมฝ่ายค้านมีชัยชนะใน ๕ รัฐตอนเหนือ ได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะจัดตั้งรัฐอิสลาม ซึ่งอาจทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในสภาวะเสี่ยง แต่ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์โดยตรงจากการพัฒนาโครงการ ศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลโลก (Global Halal Hub) ในปี ค.ศ. ๒๐๑๐ ของมาเลเซีย ซึ่งประเทศไทยควรเร่งพัฒนาและปรับตัวให้พร้อมร่วมมือกับมาเลเซียเพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ร่วมกันทั้ง ๒ ฝ่าย (Win - Win) ๑.๓ บทบาทและหน้าที่ที่เหมาะสมของประเทศไทย ๑.๓.๑ ควรมีการประเมินสถานภาพของนายอันวาร์ฯ อย่างรอบคอบ เนื่องจากมีความชัดเจนว่า นายอันวาร์ฯ มีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศสหรัฐอเมริกา แต่แสดงท่าทีไม่ชอบประเทศไทย ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้เช่นกันที่นายอันวาร์ฯ จะได้กลับมาเป็นผู้นำในพรรค UMNO และเป็นผู้นำมาเลเซียในอนาคต ประเทศไทยจึงควรสร้างและรักษาสัมพันธภาพที่ดีกับมาเลเซียทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ๑.๓.๒ ประเทศไทยควรสร้างและรักษาสัมพันธภาพที่ดีกับมาเลเซีย รวมถึงติดตามนโยบายการบริหารรัฐทั้ง ๕ รัฐ อย่างใกล้ชิด ตลอดจนเร่งสร้าง ตลาดร่วม กับ มาเลเซีย ซึ่งปัจจุบันเป็นศูนย์กลางเงินลงทุนจากตะวันออกกลาง ๑.๓.๓ หน่วยงานต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ควรเร่งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและมาเลเซียให้มีลักษณะที่เรียกว่า Powerful combination ๑.๓.๔ รัฐบาลควรฟื้นฟูนโยบายการบริหารจัดการด้านศาสนาร่วมกับ มาเลเซีย โดยมอบให้มหาเถรสมาคมเข้าไปกำกับดูแล ๑.๓.๕ ประเทศไทยควรเปลี่ยนแนวคิดใหม่ว่ามาเลเซียเป็นเพื่อนบ้าน ที่ต้องประสานงานอย่างใกล้ชิด (Collaboration) เพื่อยังประโยชน์สูงสุดร่วมกัน มิใช่เป็นคู่แข่ง (Competition) อีกต่อไป ๒. ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ๒.๑ ประเทศไทยควรสร้างความเชื่อมโยงระหว่างภาคประชาชนทั้ง ๒ ฝ่าย และปฏิบัติต่อประชาชนทั้ง ๒ ชาติ ด้วยความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงจัดกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ต่อชุมชน/สังคม และปลูกฝังให้เยาวชนเรียนรู้วิธีการอยู่ร่วมกันกับผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ศาสนา เพื่อสร้างความสุขร่วมกันอย่างยั่งยืน ๒.๒ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรส่งเสริมให้ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นแหล่งวัฒนธรรม ทั้งแบบมุสลิมมาเลย์และไทยพุทธ โดยสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ โบราณสถานให้เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนทั้ง ๒ ศาสนา ๒.๓ หน่วยงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรเข้าไปดูแลอย่างจริงจังโดยใกล้ชิด รวมทั้งให้ NGOs/สื่อมวลชนเข้ามามีบทบาทร่วมในการสร้างความเข้าใจและสำนึกร่วมของการเป็นคนภูมิภาคเดียวกัน ซึ่งมีรูปแบบวิถีชีวิตที่คล้ายคลึงกัน สามารถผสานกลมกลืนวัฒนธรรมที่แตกต่างกันได้อย่างลงตัวและเหมาะสม และเสนอให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาตินำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อโปรดทราบ ที่ประชุมรับทราบ และมอบให้ พระพรหมสุธี และ พระธรรมวรเมธี เป็นผู้ติดตามดูแลและพิจารณาด้านการปกครองคณะสงฆ์ และด้านการศึกษาพระปริยัติธรรมในประเทศมาเลเซีย ตามลำดับ ให้เหมาะสมกับนโยบายของประเทศมาเลเซีย อนึ่ง ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติแจ้งสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ/ศูนย์อาเซียนศึกษา ว่า มหาเถรสมาคมขออนุโมทนาที่ได้แจ้งข้อมูลดังกล่าวให้มหาเถรสมาคมทราบ
เอกสารประกอบเพิ่มเติม
เอกสารประกอบ 1 : CCF01792551_00285.pdf (1.05 mb)
จำนวนเข้าดู : 650
ปรับปรุงล่าสุด : 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 08:00:00
ข้อมูลเมื่อ : 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 08:00:00