มติมหาเถรสมาคม
ครั้งที่ 16/2552
มติที่ 386/2552
เรื่อง ผลการประชุมสัมมนาครูสอนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม ประจำปี ๒๕๕๒
ในการประชุมมหาเถรสมาคมครั้งที่ ๑๖/๒๕๕๒ เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เลขาธิการมหาเถรสมาคมเสนอว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้อนุมัติโครงการจัดประชุมสัมมนาครูสอนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม ประจำปี ๒๕๕๒ โดยมอบกองพุทธศาสนศึกษา ร่วมกับ สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง เจ้าคณะภาค และเจ้าคณะจังหวัด ดำเนินการจัดประชุมสัมมนาครูสอนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม จำนวน ๓,๑๐๐ รูป โดยใช้งบประมาณเงินอุดหนุนโครงการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา จำนวน ๓,๙๗๖,๕๐๐.- บาท (สามล้านเก้าแสนเจ็ดหมื่นหกพันห้าร้อยบาทถ้วน) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติขอสรุปผลการประชุมสัมมนาครูสอน พระปริยัติธรรม แผนกธรรม ปีงบประมาณ ๒๕๕๒ ดังนี้ ๑. ดำเนินการจัดประชุมตามเขตปกครองคณะสงฆ์หน ภาค และจังหวัด รวม ๑๐ ครั้ง ๒. มีครูสอนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม เข้าร่วมประชุมสัมมนาทั้งหมด จำนวน ๒,๗๖๓ รูป คิดเป็นร้อยละ ๘๙.๑๓ จากเป้าหมายที่กำหนดไว้ (เป้าหมายที่กำหนดไว้คือ ๓,๑๐๐ รูป) ๓. กำหนดประเด็นหลักการประชุมสัมมนาเพื่อหาข้อสรุป ในรูปแบบของการเสวนาและประชุมกลุ่มย่อยออกเป็น ๒ ประเด็น คือ ๓.๑ การประชุมครั้งที่ ๑ - ๔ ดำเนินการเสวนาประเด็นเรื่อง แนวทางการพัฒนาการศึกษาสงฆ์ สรุปประเด็นการเสวนาดังนี้ (๑) ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งศูนย์การเรียนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม - บาลี ในระดับอำเภอ และขยายไปในระดับตำบลต่อไป เพื่อแก้ไขปัญหาการ ขาดแคลนครู นักเรียน และงบประมาณ โดยให้เป็นนโยบายของคณะสงฆ์ และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติสนับสนุนด้านวิชาการและงบประมาณ (๒) สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง ควรจัดทำหลักสูตรระยะสั้น ๗ วัน หรือ ๑๕ วัน เพื่อผู้บวชจะได้มีโอกาสเรียนรู้หลักพระธรรมวินัย และสามารถนำไปประพฤติปฏิบัติได้เมื่อลาสิกขาแล้ว (๓) ในการจัดอบรมครูสอนพระปริยัติธรรม ปีงบประมาณต่อไปควรจัดอบรมเข้มอย่างน้อย ๕ วัน โดยคัดเลือกกลุ่มผู้เข้ารับการอบรม เพื่อเป็นต้นแบบและสามารถนำไปขยายผลต่อในสำนักเรียน สำนักศาสนศึกษา (๔) การจัดสอบธรรมศึกษาในสถานศึกษาต่าง ๆ สำนักงาน- พระพุทธศาสนาแห่งชาติ และสำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง ควรมีหนังสือแจ้งขอความร่วมมือจากกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษาที่เป็นสนามสอบ เพื่อขออนุญาตให้นักเรียนเข้าสอบธรรมศึกษาโดยไม่ถือเป็นการหยุดเรียน และอนุญาตให้ใช้สถานศึกษาเป็นสนามสอบ (๕) ควรหาแนวทางสร้างความเข้าใจต่อรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ ที่มีส่วนในการอนุมัติงบประมาณส่งเสริมการศึกษาของสงฆ์ ให้เข้าใจระบบการศึกษาสงฆ์ว่า มีวัฒนธรรมองค์กรเฉพาะ ไม่ควรนำไปเปรียบเทียบกับการศึกษาของสถานศึกษาทั่วไป (๖) ต้องมีการจัดทำแผนการจัดการศึกษาของสงฆ์ โดยจัดเป็นแผนระดับชาติ ระดับหน ระดับภาค และระดับจังหวัด โดยแผนทุกระดับต้องมีความเกี่ยวเนื่องและสอดคล้องกัน (๗) ควรจัดให้มีการอบรมครูสอนพระปริยัติธรรมเพิ่มเติมอย่างน้อย ๒ ปี/ครั้ง ๓.๒ การประชุมครั้งที่ ๕ - ๑๐ ดำเนินการประชุมกลุ่มย่อยเรื่อง มาตรฐานการศึกษาและการประกันคุณภาพการศึกษาที่จัดโดยสถาบันพระพุทธศาสนา โดย ได้กำหนดประเด็นในการประชุมกลุ่มย่อยคือการยกร่างมาตรฐานและตัวบ่งชี้การศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกธรรม สรุปผลการประชุมกลุ่มย่อยดังนี้ (๑) มาตรฐานและตัวบ่งชี้ด้านผู้เรียน (๒) มาตรฐานและตัวบ่งชี้ด้านครู (๓) มาตรฐานและตัวช่งชี้ด้านผู้บริหาร (๔) มาตรฐานและตัวบ่งชี้ด้านการสร้างศาสนทายาท สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติพิจารณาเห็นว่า เพื่อเป็นการส่งเสริม สนับสนุนการจัดการศึกษาของคณะสงฆ์ จึงเห็นควรเร่งดำเนินการตามมติของที่ประชุมสัมมนาใน ๓ ประเด็นหลัก คือ ๑. ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งศูนย์การเรียน ในระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด ๒. จัดให้มีการอบรมครูสอนพระปริยัติธรรมเพิ่ม ๓. ส่งเสริมให้มีการประกันคุณภาพการศึกษาในสำนักเรียน สำนักศาสนศึกษา ตามที่ระบุไว้ในกฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยสถาบันพระพุทธศาสนา พ.ศ. ๒๕๔๘ (ข้อ ๖) โดยการแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำมาตรฐานการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกธรรมและแผนกบาลี สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเห็นควรนำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อโปรดทราบ ที่ประชุมรับทราบ
เอกสารประกอบเพิ่มเติม
เอกสารประกอบ 1 : c15-16300752_386.pdf (74.59 kb)
จำนวนเข้าดู : 712
ปรับปรุงล่าสุด : 29 เมษายน พ.ศ. 2553 15:50:17
ข้อมูลเมื่อ : 29 เมษายน พ.ศ. 2553 15:50:17