มติมหาเถรสมาคม
ครั้งที่ 17/2552
มติที่ 393/2552
เรื่อง โครงการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้นำศาสนา
ในการประชุมมหาเถรสมาคมครั้งที่ ๑๗/๒๕๕๒ เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๒ เลขาธิการมหาเถรสมาคมเสนอว่า ในการประชุมมหาเถรสมาคมครั้งที่ ๗/๒๕๕๒ วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๒ ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่อง การเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างศาสนจักรรัสเซียกับศาสนาอื่น ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้รับรายงานจาก สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก ความว่า เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ นายสมปอง สงวนบรรพ์ อุปทูต ณ กรุงมอสโก ได้เข้าเยี่ยมคารวะ บิชอปมาร์ก องค์รักษาการประธานสำนักงานวิเทศศาสนกิจสัมพันธ์ของ สภาออร์โธดอกซ์รัสเซีย ณ มหาวิหารเซนต์แดเนียล (วิหารที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช) เพื่อขอรับทราบเกี่ยวกับบทบาทของศาสนจักรต่อการพัฒนาสังคมของรัสเซีย และหาทางส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียในมิติความสัมพันธ์ทางศาสนา ซึ่งบิชอปมาร์ก กล่าวว่า รัสเซียมีสภาศาสนสัมพันธ์แห่งรัสเซีย (Inter Religious Council of Russia) ประกอบด้วยผู้นำศาสนาที่สำคัญ ๔ ศาสนา ได้แก่ รัสเซียออร์โธดอกซ์ อิสลาม พุทธ และยูดาอิสต์ ได้ร่วมหารือเกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมและความสัมพันธ์ระหว่างกัน และเสนอข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลรัสเซีย ผลงานที่สำคัญ คือร่วมกันเสนอแนะ ให้รัฐบาลรัสเซียยกเลิกงานฉลองวันปฏิวัติสังคมนิยม ๗ พฤศจิกายน ซึ่งจัดขึ้นทุกปี ตั้งแต่การปฏิวัติสังคมนิยม ค.ศ.๑๙๑๗ (พ.ศ.๒๔๖๐) และให้เปลี่ยนเป็นการ ฉลองวันสมานฉันท์ในวันที่ ๔ พฤศจิกายน ของทุกปีแทน เนื่องจากทรรศนะของคน รัสเซียต่อการปฏิวัติฯ ได้เปลี่ยนไปซึ่งคนส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นเหตุการณ์ที่มิได้สร้างสามัคคี แต่ก่อให้เกิดความแตกแยกแก่สังคมรัสเซีย นอกจากนี้สภาศาสนสัมพันธ์ยังรับข้อเสนอแนะจากผู้นำสาธารณรัฐและเขตการปกครองในรัสเซียที่มีประชากรนับถือศาสนาอื่น ไปปฏิบัติด้วย เช่น ข้อเสนอของประธานาธิบดีรัฐ Kalmykia และรัฐ Tuva ของรัสเซีย ซึ่งประชากรนับถือศาสนาพุทธให้ไปตั้งวิหารออร์โธดอกซ์ในรัฐดังกล่าว การเสริมสร้างความสัมพันธ์กับต่างประเทศ บิชอปมาร์ก กล่าวว่า มีวิหาร ออร์โธดอกซ์รัสเซียทั่วโลกประมาณ ๕๐๐ แห่ง และส่งสมณทูตไปปฏิบัติศาสนกิจใน ต่างประเทศเป็นประจำ รวมทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เช่น ไทย เวียดนามและจีน ในประเทศไทยและอินโดนีเซียมีโบสถ์ออร์โธดอกซ์และมีสมณทูตจากรัสเซียไปประจำแล้ว (โบสถ์ออร์โธด๊อกซ์รัสเซีย ตั้งอยู่ที่ ๑๙ สุโขทัยซอย ๓ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร) อุปทูต ฯ ได้แจ้งให้ทราบถึงความพยายามของชุมชนชาวพุทธ ในรัสเซียในการจัดตั้งวัดพุทธขึ้นที่นครเซนต์ปีเตอร์เบิร์ก (ปัจจุบันพระชาตรี เหมพนฺโธ สังกัดวัดชลประทานรังสฤษฎ์ เป็นหัวหน้าคณะพระธรรมทูต) พร้อมนี้ได้แจ้งว่า จะพยายามหาทางเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาพุทธในประเทศไทยกับศาสนาออร์โธดอกซ์ของรัสเซีย เช่น การอาราธนาคณะพระเถระจากประเทศไทยเดินทางไปเยือนรัสเซียในโอกาสอันควร นอกจากนี้การนัดหมายเพื่อขอเข้าเยี่ยมสำนักงานวิเทศศาสนกิจของ สมเด็จพระสังฆราชรัสเซีย ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีและในเวลาอันสั้น รวมทั้งการหารือกับฝ่ายรัสเซียเป็นไปอย่างอบอุ่น ความสัมพันธ์ด้านการศาสนาระหว่างไทยกับรัสเซีย ในปี พ.ศ.๒๕๓๖ นายกษิต ภิรมย์ อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก ได้จัดทำโครงการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในสหพันธรัฐรัสเซีย และคณะกรรมการ พระพุทธศาสนาแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย (The Permanent Mission of the Buddhist Board of the Russian Federation) ขอรับความช่วยเหลือจากฝ่ายไทยในการจัดส่งสามเณรและนักศึกษาจากสาธารณรัฐบูรยาเทีย จำนวน ๘ คน เดินทางเข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศไทย โดยได้รับการอุปถัมภ์จากวัดปากน้ำ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร และนักธุรกิจไทยท่านหนึ่ง พร้อมนี้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (กรมการศาสนา) ได้ถวายทุนอุดหนุนการศึกษาพระปริยัติธรรม จำนวน ๕ ทุน ๆ ละ ๒๐,๐๐๐ บาท ซึ่งผลการศึกษาพระภิกษุชาวรัสเซียเป็นที่พอใจระดับหนึ่ง และในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้จัดส่งนักศึกษาเข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศไทยอีก จำนวน ๑๑ คน โดยศึกษาพระปริยัติธรรมสำนักเรียนวัดปากน้ำ และวัดหลวงพ่อสดธรรม- กายาราม จังหวัดราชบุรี ในปี พ.ศ.๒๕๔๐ Did Khambo Lama Tsedenov Dorjie รอง สังฆนายกพุทธศาสนา แห่งสหพันธรัฐรัสเซียเดินทางเยือนประเทศไทย ระหว่างวันที่ ๑๖ - ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๐ และพำนัก ณ วัดปากน้ำ วัตถุประสงค์การเดินทาง มาเยือนเพื่อขอความร่วมมือในการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศรัสเซีย และการบูรณปฏิสังขรณ์วัดต่าง ๆ ในการนี้ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำได้มอบเงินจำนวน ๕,๐๐๐ เหรียญสหรัฐ และองค์การ พ.ส.ล. มอบเงิน จำนวน ๒๐๐ เหรียญสหรัฐ พร้อมนี้ได้เข้าพบอธิบดีกรมการศาสนา (นายถวัลย์ ทองมี) โดยฝ่ายรัสเซียได้เสนอจะหาที่ดินให้ ฝ่ายไทยดำเนินการก่อสร้างวัดไทยขึ้นในกรุงมอสโก และขอให้ฝ่ายไทยเดินทางไปดูสถานที่ก่อสร้างในโอกาสอันควร เมื่อรองสังฆนายกพุทธศาสนาแห่งสหพันธรัฐรัสเซียเดินทางกลับไปแล้วได้มีหนังสือกราบทูลอาราธนา สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จ พระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จเยือนสหพันธรัฐรัสเซีย และสาธารณรัฐ บูรยาเทีย พร้อมกราบอาราธนา สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ และเรียนเชิญผู้แทนกรมการศาสนาเดินทางไปเยือนในโอกาสอันเดียวกัน ระหว่างเดือนมิถุนายน - สิงหาคม ๒๕๔๐ ซึ่งในช่วงระยะเวลาดังกล่าว สมเด็จพระสังฆราช และ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ไม่สะดวกที่จะรับเดินทางไปเยือนและได้ขอเลื่อนกำหนดการไปก่อน ในปี พ.ศ.๒๕๔๔ His Eminence Kirill สังฆนายกแห่งสังฆมณฑล สโมเลนสค์ (Smolensk) และ Kaliningrad ประธานฝ่ายศาสนวิเทศสังฆนายกแห่ง กรุงมอสโก (Department of External Church Relations of Moscow Patriarchate) เดินทางมาเยือนประเทศไทย และเข้าเฝ้า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โดยแจ้งวัตถุประสงค์ในการเดินทางมาเยือนประเทศไทยดังนี้ - มีความประสงค์จะให้ศาสนามีส่วนเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศทั้งสอง - มีความประสงค์ขอให้ชาวรัสเซียมีสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในประเทศไทย - มีความประสงค์ที่จะพบชาวรัสเซียและชาวไทยที่นับถือคริสต์ศาสนานิกายออร์โธดอกซ์ ประกอบกับ พระชาตรี เหมพนฺโธ หัวหน้าพระธรรมทูต วัดอภิธรรมพุทธวิหารแห่งกรุงเซนต์ปิเตอร์สเบอร์ก สหพันธรัฐรัสเซีย ยุโรปตะวันออก และมีตำแหน่งเป็นอาจารย์ประจำคณะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยแห่งกรุงเซ็นต์ ปิเตอร์สเบอร์ก มีลิขิตหารือเกี่ยวกับการจัดหาที่ดินในสหพันธรัฐรัสเซีย เพื่อจัดสร้างวัดไทย และศูนย์วัฒนธรรมไทย รวมถึงจัดสร้างพระตำหนักที่ประทับพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ในการนี้ พระชาตรี เหมพนฺโธ แจ้งว่า มีการปรึกษาหารือกับผู้แทนรัฐบาลแห่งกรุงเซนต์-ปิเตอร์สเบิร์ก และมีความเป็นไปได้มากว่าทางรัฐบาลรัสเซียสามารถมอบที่ดินบริเวณระหว่างพระราชวังฤดูร้อนปิเตอร์- ฮอฟกับทำเนียบคอนสแตนติน เนื้อที่ประมาณ ๓๐ ไร่ ให้แก่คณะสงฆ์ไทยและรัฐบาล-ไทย หากส่วนราชการไทยมีหนังสือแสดงความจำนงในการขอรับบริจาคที่ดินบริเวณ ดังกล่าวจากรัฐบาลสหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติพิจารณา เห็นว่า คณะสงฆ์ไทยโดยมหาเถรสมาคมมีนโยบายในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปต่างประเทศอยู่แล้ว หากได้มีการจัดสร้างวัดไทยให้เป็นหลักฐานมั่นคงในสหพันธรัฐรัสเซีย การเผยแผ่พระพุทธศาสนาจะสามารถดำเนินการไปได้อย่างเข้มแข็งต่อไปอีก ทั้งยังเป็นการแสดงถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้งสองราชอาณาจักรที่สืบเนื่องกันมาจนครบรอบ ๑๑๑ ปี ในปี ๒๕๕๒ และได้มีหนังสือขอความอนุเคราะห์กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาดำเนินการประสานกับรัฐบาลสหพันธรัฐรัสเซีย ในการแสดงความจำนงจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติขอรับบริจาคที่ดินบริเวณดังกล่าว สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคมพิจารณาเห็นว่า เพื่อเป็นการวางรากฐานในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสหพันธรัฐรัสเซียให้มั่นคงเป็นปึกแผ่นต่อไป และเป็น การแสดงถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศที่ดำเนินการมาได้ถึง ๑๑๑ ปี ในปีพ.ศ.๒๕๕๒ นี้ เห็นควรอาราธนาผู้แทนมหาเถรสมาคมและเรียนเชิญผู้บริหารสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเดินทางไปเยือนสหพันธรัฐรัสเซีย ระหว่างวันที่ ๓๐ สิงหาคม - ๖ กันยายน ๒๕๕๒ ตามโครงการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดี ระหว่างผู้นำศาสนา ต่อไป โดยมีวัตถุประสงค์ในการเดินทางไปเยือนเพื่อจะให้ศาสนามีส่วนร่วมในการ เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศทั้งสอง และขอให้พุทธศาสนิกชนชาวไทยมีสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในสหพันธรัฐรัสเซีย พร้อมนี้ขอพบปะพุทธศาสนิกชนในสหพันธรัฐรัสเซีย สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเห็นควรนำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อโปรดพิจารณา ที่ประชุมพิจารณาแล้วลงมติให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่ง หรือผู้แทน เป็นผู้แทนมหาเถรสมาคม เดินทางไปร่วมกับผู้บริหารสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และให้ดำเนินการได้ทันทีโดยไม่ต้องรอรับรองรายงานการประชุม
เอกสารประกอบเพิ่มเติม
เอกสารประกอบ 1 : c25-17100852_393.pdf (153.89 kb)
จำนวนเข้าดู : 827
ปรับปรุงล่าสุด : 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 11:17:24
ข้อมูลเมื่อ : 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 11:17:24