มติมหาเถรสมาคม
ครั้งที่ 04/2553
มติที่ 86/2553
เรื่อง ผู้ถูกคุมความประพฤติขออนุญาตบรรพชาอุปสมบท
ในการประชุมมหาเถรสมาคมครั้งที่ ๔/๒๕๕๓ เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ เลขาธิการมหาเถรสมาคมเสนอว่า กรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม ได้มีหนังสือ ที่ ยธ ๐๓๑๗/๒๘๐๖ ลงวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๒ แจ้งว่า มีภารกิจควบคุม ดูแลรับผิดชอบผู้กระทำผิด ๓ ประเภท คือ ๑. ผู้ถูกคุมความประพฤติที่เป็นผู้ใหญ่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ ซึ่งผู้กระทำผิดมีโทษจำคุกไม่เกิน ๓ ปี แต่ไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน หรือได้รับโทษจำคุกมาก่อนแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ โดยศาลพิพากษาว่าผู้นั้นมีความผิดแต่รอการกำหนดโทษหรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษจำคุกโดยกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติไว้ เพื่อให้โอกาสกลับตัวภายในระยะเวลาที่กำหนดแต่ต้องไม่เกิน ๕ ปี นับจากวันที่ศาลพิพากษา ๒. ผู้ถูกคุมความประพฤติที่เป็นเด็กและเยาวชน ซึ่งศาลเยาวชนและ ครอบครัวกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติไว้ ๓. ผู้ถูกคุมความประพฤติพักการลงโทษ/ลดวันต้องโทษจำคุก คือ นักโทษ-เด็ดขาดที่ต้องโทษมาแล้วระยะเวลาหนึ่งและปฏิบัติตนเป็นประโยชน์และกระทำความดีในระหว่างต้องโทษจำคุก จึงได้รับโอกาสพักการลงโทษหรือลดวันต้องโทษจำคุกออกจากเรือนจำก่อนครบกำหนดโทษ โดยประกอบอาชีพและพักอาศัยอยู่กับผู้อุปการะซึ่งเป็นญาติหรือบุคคลซึ่งรับจะดูแลอุปการะนักโทษเด็ดขาดรายนี้ ซึ่งกรมราชทัณฑ์ได้กำหนด เงื่อนไขคุมความประพฤติ และให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ ณ สำนักงานคุมประพฤติ กรมคุมประพฤติ ตามกำหนดนัดจนครบกำหนดพ้นโทษและถือว่ายังมีสถานะเป็นนักโทษ หากกระทำผิดเงื่อนไขการคุมความประพฤติ จะถูกจับกุมกลับไปต้องโทษในเรือนจำอีก ทั้งนี้ ในระหว่างการคุมความประพฤติ ปรากฏว่าผู้ถูกคุมความประพฤติ ขอบรรพชาอุปสมบท ดังนั้น กรมคุมประพฤติจึงขอทราบว่า ผู้ถูกคุมความประพฤติทั้ง ๓ ประเภทดังกล่าว จะบรรพชาอุปสมบทได้หรือไม่ เพื่อกรมคุมประพฤติจะได้ดำเนินการให้ถูกต้องต่อไป สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเห็นควรนำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อโปรดพิจารณา ที่ประชุมพิจารณาแล้วลงมติว่า คณะสงฆ์ต้องปฏิบัติตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๗ (พ.ศ. ๒๕๓๖) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระอุปัชฌาย์ และเสนอแนะว่า กรมคุมประพฤติควรจัดให้ผู้ถูกคุมประพฤติทั้ง ๓ ประเภท ได้ฟังพระธรรมเทศนา โดยนิมนต์พระไปแสดงพระธรรมเทศนาเป็นครั้งคราว สำหรับผู้ที่ประสงค์จะบรรพชาอุปสมบท ควรให้บวชแบบชีพราหมณ์ นุ่งขาว ห่มขาว ไม่ต้องโกนศีรษะ และอาศัยอยู่ ในที่เดิมของตนได้ตลอดระยะเวลาที่ถูกคุมประพฤติ หรือประสานขอคำแนะนำการอบรมผู้คุมประพฤติกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
เอกสารประกอบเพิ่มเติม
เอกสารประกอบ 1 : c6-04100253_86.pdf (47.55 kb)
จำนวนเข้าดู : 1835
ปรับปรุงล่าสุด : 22 มิถุนายน พ.ศ. 2553 14:03:28
ข้อมูลเมื่อ : 22 มิถุนายน พ.ศ. 2553 14:03:28