มติมหาเถรสมาคม
ครั้งที่ 18/2558
มติที่ 407/2558
เรื่อง การจัดทำรายงานการเงินของวัด (บัญชีรายรับ - รายจ่าย) และจำนวนวัดที่มีฐานข้อมูลศาสนสมบัติ
ในการประชุมมหาเถรสมาคมครั้งที่ ๑๘/๒๕๕๘ เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๘ เลขาธิการมหาเถรสมาคมเสนอว่า สภาปฏิรูปแห่งชาติได้เสนอรายงานผลการพิจารณาศึกษาการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา ของคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา และข้อเสนอแนะของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติต่อคณะรัฐมนตรี โดยมีประเด็นปฏิรูป ๔ เรื่อง ซึ่งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้รายงานผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการ เรื่อง ทรัพย์สินของวัดและพระภิกษุ ให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ) และนำกราบเรียนนายกรัฐมนตรี ทราบ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติขอนมัสการข้อเท็จจริง ดังนี้ ๑. การปฏิบัติงานด้านการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของวัดที่ผ่านมา ได้ดำเนินการตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๑๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ข้อ ๖ กำหนดไว้ว่า ให้เจ้าอาวาสจัดให้ไวยาวัจกร หรือผู้จัดประโยชน์ของวัดซึ่งเจ้าอาวาสแต่งตั้งทำบัญชีรับจ่ายเงินของวัด และเมื่อสิ้นปีปฏิทินให้ทำบัญชีเงินรับจ่ายและคงเหลือ ทั้งนี้ให้เจ้าอาวาสตรวจดูแลให้เป็นไป โดยเรียบร้อยและถูกต้อง ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๔๙ รัฐบาลมีนโยบายปรับปรุงประสิทธิภาพการปฏิบัติราชการ โดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ของงานตามพระราชกฤษฏีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. ๒๕๔๖ มาตรา ๙ จึงกำหนดให้ส่วนราชการต้องจัดให้มีการติดตามประเมินผลการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติราชการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ส่วนราชการกำหนดขึ้น และให้จัดทำความตกลงเป็น ลายลักษณ์อักษรในการกำหนดมาตรการกำกับการปฏิบัติราชการตามมาตรา ๑๒ ซึ่งสำนักงาน กพร. และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ตระหนักถึงการสร้างความโปร่งใสของวัดในด้านการเงิน จึงได้ร่วมกันกำหนดตัวชี้วัดที่เกี่ยวกับการตรวจสอบทรัพย์สินของวัดเป็น ๒ ตัวชี้วัด ได้แก่ ๑.๑ ตัวชี้วัด เรื่องการจัดทำรายงานทางการเงินของวัด (บัญชีรายรับ - รายจ่าย) ตามแบบที่กำหนด ๑.๒ ตัวชี้วัด เรื่องจำนวนวัดที่มีฐานข้อมูลศาสนสมบัติของวัดและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับวัดครบถ้วน ๒. ในการดำเนินการได้ขอความร่วมมือจากเจ้าคณะผู้ปกครองสั่งการให้เจ้าอาวาสวัดรายงานทางการเงินและทรัพย์สินของวัดส่งต่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ ๒๕๕๐ เป็นต้นมา และเพิ่มจำนวนวัดเป้าหมายขึ้นทุกปี สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้จัดทำรายงานเสนอมหาเถรสมาคม ในการประชุม ครั้งที่ ๒๔/๒๕๕๔ เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๔ เพื่อรับทราบเกี่ยวกับปัญหา อุปสรรค การดำเนินการตามตัวชี้วัดดังกล่าว และการขอความร่วมมือให้วัดทั่วประเทศได้จัดทำบัญชีวัดพร้อมจัดส่งให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่ประชุมรับทราบ นอกจากนี้ยังได้จัดประชุมอบรมไวยาวัจกร ตลอดจนถวายคำแนะนำให้ความรู้แก่เจ้าอาวาสวัดในเรื่องเกี่ยวกับการจัดทำบัญชีทางการเงินและทรัพย์สินของวัด พร้อมจัดพิมพ์หนังสือคู่มือการจัดการศาสนสมบัติของวัดเพื่อประกอบการจัดทำบัญชีอย่างถูกต้อง เป็นผลทำให้ผลผลิตตามตัวชี้วัดเป็นไปตามเป้าหมาย ๓. การดำเนินงานดังกล่าวทำให้ผลการประเมินและตัวชี้วัดได้คะแนนในระดับ ๕ หมายถึง มีวัดรายงานผลการดำเนินการตามตัวชี้วัดที่กำหนดครบตามเป้าหมายที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติกำหนด และคาดว่าจะมีการรายงานครบทุกวัดทั่วประเทศ จำนวน ๓๙,๕๘๘ วัด ภายในระยะ ๕ ปี (ปี พ.ศ. ๒๕๖๓) ๔. เพื่อให้การจัดทำบัญชีทางการเงินและทรัพย์สินของวัดเป็นไปตามระบบทางการปกครองคณะสงฆ์สอดคล้องกับกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒๓ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ว่าด้วยระเบียบการปกครองคณะสงฆ์และสนับสนุนช่วยเหลือแบ่งเบาภาระเจ้าอาวาส เห็นควรจะได้ดำเนินการดังนี้ ๔.๑ ขอความเห็นชอบมหาเถรสมาคมมีมติให้เจ้าคณะจังหวัดทุกจังหวัดแจ้งวัดทุกวัดในเขตปกครอง ส่งรายงานบัญชีทางการเงินและทรัพย์สินของวัดต่อสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด (เฉพาะกรุงเทพมหานครให้ส่งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ) ทุก ๆ ๑ ปี ของปีงบประมาณ ๔.๒ ส่งเสริมสนับสนุนให้มีวัดต้นแบบของการจัดทำบัญชีทางการเงินและทรัพย์สิน ที่ถูกต้องเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ๕. วัดเป็นนิติบุคคล เจ้าอาวาสเป็นผู้แทนของวัดในกิจการทั่วไป แม้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๓๗ บัญญัติให้เจ้าอาวาสมีหน้าที่บำรุงรักษาวัด จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัด ให้เป็นไปด้วยดี แต่กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒๓ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ว่าด้วยระเบียบการปกครองสงฆ์ ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๕ ตรี มาตรา ๒๐ และมาตรา ๒๐ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ข้อ ๔ กำหนดให้ การปกครองคณะสงฆ์ทุกส่วนทุกชั้น ให้มีเจ้าคณะมหานิกายและเจ้าคณะธรรมยุต ปกครองบังคับบัญชา ทุกวัด และพระภิกษุสามเณรในนิกายนั้น โดยเจ้าคณะใหญ่ เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล มีอำนาจหน้าที่ควบคุมบังคับบัญชาเจ้าคณะผู้ปกครองและเจ้าอาวาส ตลอดถึงพระภิกษุสามเณรผู้อยู่ในบังคับบัญชาหรืออยู่ในเขตปกครองของตน และชี้แจงแนะนำการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อยู่ในบังคับบัญชาให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามตัวชี้วัดและสำเร็จผลตามเป้าหมายที่กำหนด สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเห็นควรนำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อโปรดทราบและมอบหมายเจ้าคณะจังหวัดทุกจังหวัด ทั้งสองฝ่าย แจ้งวัดทุกวัดในเขตปกครองส่งรายงานบัญชีทางการเงินและทรัพย์สินของวัด ต่อสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด (เฉพาะกรุงเทพมหานครให้ส่งที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ) ทุก ๆ ๑ ปี ของปีงบประมาณ ที่ประชุมรับทราบ และมอบให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติแจ้งเจ้าคณะจังหวัดทุกจังหวัด ทั้งสองฝ่าย เพื่อแจ้งวัดทุกวัดในเขตปกครองส่งบัญชีรายรับ - รายจ่ายประจำเดือนของวัดต่อสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด (เฉพาะกรุงเทพมหานครให้ส่งที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ) ทุก ๆ ๑ ปี ของปีงบประมาณ
เอกสารประกอบเพิ่มเติม
เอกสารประกอบ 1 : c_18200758_407 รายงานการเงินของวัด.pdf (553.29 kb)
จำนวนเข้าดู : 5590
ปรับปรุงล่าสุด : 14 มีนาคม พ.ศ. 2559 11:18:15
ข้อมูลเมื่อ : 14 มีนาคม พ.ศ. 2559 11:18:15