มติมหาเถรสมาคม
ครั้งที่ 05/2559
มติที่ 106/2559
เรื่อง รายงานผลการระดมความคิดเห็นเพื่อพัฒนาภารกิจงานคณะสงฆ์ ในการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา
ในการประชุมมหาเถรสมาคมครั้งที่ ๕/๒๕๕๙ เมื่อวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ เลขาธิการ มหาเถรสมาคมเสนอว่า พระพรหมบัณฑิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้มีลิขิต ที่ ศธ ๖๑๐๐/๑๑๖ ลงวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ แจ้งว่า ตามที่ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยการมอบหมายของมหาเถรสมาคม ได้ขอความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยจัดประชุมสัมมนาเชิงวิชาการระดมความคิดเห็นเพื่อพัฒนาภารกิจงานคณะสงฆ์ในการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา มีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังและระดมความคิดเห็นจากเจ้าคณะพระสังฆาธิการ นักวิชาการด้านพระพุทธศาสนา และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการนี้ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยร่วมกับผู้แทนมหาเถรสมาคม สำนักงาน พระพุทธศาสนาแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ได้แต่งตั้งคณะกรรมการประชุมสัมมนาเชิงวิชาการระดมความคิดเห็นเพื่อพัฒนาภารกิจงานคณะสงฆ์ในการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา โดยมีการจัดประชุมสัมมนาเชิงวิชาการระดมความคิดเห็นเพื่อพัฒนาภารกิจงานคณะสงฆ์ในการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา จำนวน ๓ ครั้ง มีผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนาประกอบด้วย พระสังฆาธิการระดับเจ้าคณะผู้ปกครอง ผู้แทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผู้แทนสภาปฏิรูปแห่งชาติ ร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อพัฒนาภารกิจงานคณะสงฆ์ในการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา ๖ ด้าน คือ ด้านการปกครอง ด้านการศาสนศึกษา ด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ด้านการสาธารณูปการ ด้านการศึกษาสงเคราะห์ และด้านสาธารณสงเคราะห์ รวมทั้งการพัฒนาพุทธมณฑลเป็นศูนย์กลางการบริหารคณะสงฆ์และเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว สรุปผลการประชุมสัมมนาเชิงวิชาการระดมความคิดเห็นเพื่อพัฒนาภารกิจงานคณะสงฆ์ในการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา ๖ ด้าน และการพัฒนาพุทธมณฑลเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก ดังนี้ ๑. แนวทางการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาด้านการปกครอง ๑) พัฒนากฎหมายที่เกี่ยวกับการปกครองคณะสงฆ์ ๑. บรรจุคำว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ไว้ในรัฐธรรมนูญ ๒. เพิ่มอำนาจ บทบาทและหน้าที่ของพระสังฆาธิการ ๓. กระจายอำนาจทางการปกครองคณะสงฆ์ ๔. จัดตั้งสภาสงฆ์ในแต่ละระดับชั้น ๕. กำหนดกระบวนการยุติธรรมสงฆ์ที่ชอบด้วยพระธรรมวินัยและกฎหมายบ้านเมือง ๖. กำหนดให้มีสำนักงานเจ้าคณะแต่ละระดับชั้นทำงานต่อเนื่องโดยมีเจ้าหน้าที่สนับสนุน และให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติขยายอัตรากำลังพนักงานราชการ ๗. จัดตั้งองค์กรหรือสถาบันพัฒนาพระสังฆาธิการ ๒) พัฒนางานภายใต้ระบบและกลไกที่มีอยู่ ๑. พระสังฆาธิการในแต่ละระดับชั้นบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปกครองคณะสงฆ์อย่างจริงจัง ๒. กำหนดให้วัดหรือการปกครองคณะสงฆ์ในแต่ละระดับชั้น จัดทำยุทธศาสตร์ในการปฏิบัติงานเป็นแผนปฏิบัติการประจำปีและแผนพัฒนาฯ ระยะ ๕ ปี โดยให้สอดคล้องกับกิจการคณะสงฆ์ ทั้ง ๖ ด้าน และมีการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐ ๓. กำหนดระบบการคัดกรองผู้บรรพชาและอุปสมบทและจัดทำฐานข้อมูลสารสนเทศเพื่องานปกครองคณะสงฆ์ ๔. ส่งเสริมและสนับสนุนให้คณะสงฆ์ทำงานเชื่อมโยงกับเครือข่ายทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ๓) การบริหารจัดการด้านการเงินและบัญชี ๑. สนับสนุนให้มีการจัดตั้งธนาคารพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ๒. สนับสนุนและส่งเสริมการจัดทำรายงานด้านงบประมาณ การเงินและบัญชีอย่างเป็นระบบ ๓. พัฒนาบุคลากรทางพระพุทธศาสนาให้มีความรู้ความสามารถทางด้านกฎหมายและการจัดการทรัพย์สินของสถาบันทางพระพุทธศาสนา ๒. แนวทางการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาด้านการศาสนศึกษา ๑. พัฒนาการบริหารจัดการในการศึกษาบาลี นักธรรม ธรรมศึกษา โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญ มหาวิทยาลัยสงฆ์ และการศึกษาตามอัธยาศัย บูรณาการกันอย่างเป็นระบบ ๒. เสนอให้ตราพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม เพื่อเป็นกลไกในการบริหารจัดการ และพัฒนาการศึกษาพระพุทธศาสนา ๓. จัดให้มีคณะกรรมการการศึกษาพระพุทธศาสนาในระดับจังหวัดเพื่อบูรณาการการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับพระภิกษุสามเณรและประชาชนทั่วไป ๔. พัฒนาหลักสูตรกระบวนการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลการศึกษาด้านพระพุทธ-ศาสนาให้มีคุณภาพและมาตรฐาน ๕. ส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรด้านพระพุทธศาสนา ให้มีความมั่นคงและก้าวหน้าในอาชีพ เช่น กำหนดระบบเทียบมาตรฐานคุณวุฒิ อัตราเงินเดือน สวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่น ๆ เป็นต้น ๖. กำหนดยุทธศาสตร์ส่งเสริมและพัฒนาระบบและกลไกในการสร้างและพัฒนาศาสนทายาท ๓. แนวทางการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาด้านการเผยแผ่ ๑. กำหนดเป้าหมายและจัดทำยุทธศาสตร์การเผยแผ่และประชาสัมพันธ์กิจการพระพุทธศาสนาอย่างเป็นระบบ ๒. เสนอให้มีการพัฒนาโครงสร้างการบริหารกิจการคณะสงฆ์โดยมีการจัดตั้งแม่กองงานด้านการประชาสัมพันธ์และเผยแผ่พระพุทธศาสนา ๓. เสนอให้มีการตั้งหรือพัฒนาสถาบันเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านการประชาสัมพันธ์และเผยแผ่พระพุทธศาสนา ๔. จัดทำแผนพัฒนาบุคลากรเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้มีความรู้ ทักษะด้านภาษาเพื่อการสื่อสาร การใช้สื่อ เช่น พระนักเผยแผ่ พระสอนศีลธรรม พระธรรมทูต พระธรรมทูตสายต่างประเทศ พระวิปัสสนาจารย์ ๕. จัดทำมาตรฐานบุคลากรด้านการประชาสัมพันธ์และเผยแผ่กิจการพระพุทธศาสนา ๖. เสนอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ พัฒนางานและส่วนงานเพื่อการดูแลตรวจสอบมาตรฐานของบุคลากรด้านการเผยแผ่ ๗. รณรงค์จัดกิจกรรม สนับสนุน สร้างเครือข่ายการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข่าวสาร กิจการงานพระพุทธศาสนาและศาสนสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์และต่อเนื่อง ๔. แนวทางการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาด้านการสาธารณูปการ ๑. ปรับปรุงและพัฒนาระบบการบริหารการจัดการศาสนสมบัติของวัด ๒. พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารการจัดการศาสนสมบัติของวัด เสนอให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณเพื่อการก่อสร้าง การปฏิสังขรณ์ การพัฒนา ๓. ทำนุบำรุงศาสนสถาน ส่งเสริม สนับสนุนและอนุรักษ์พุทธศิลปกรรม โบราณสถาน โบราณวัตถุทางพระพุทธศาสนา ๔. พัฒนาวัดและศาสนสถานให้เป็นสถานที่เอื้อต่อการปฏิบัติศาสนกิจของคณะสงฆ์และ พุทธศาสนิกชน ๕. พัฒนาพระสังฆาธิการให้มีความรู้และความสามารถในด้านการสาธารณูปการ ๖. เร่งรัดให้ผู้รับผิดชอบจัดทำเอกสารสิทธิ์ของวัดให้เป็นระบบ ๕. แนวทางการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาด้านการศึกษาสงเคราะห์ ๑. พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนธรรมศึกษาและหลักสูตรพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน ๒. เสนอให้รัฐบาลสนับสนนุงบประมาณและบุคลากรแก่โรงเรียนการกุศลของวัด ๓. จัดตั้งและบริหารกองทุนสนับสนุนการศึกษาสงเคราะห์เพื่อให้การสนับสนุนพระภิกษุสามเณรในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ๔. พัฒนาพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพ ๕. พัฒนาเครือข่ายการทำงานร่วมกันกับหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล (อปต.) เพื่อสร้างประสิทธิภาพในการทำงานให้เป็นเอกภาพ ๖. พัฒนาจัดตั้งส่งเสริมพระพุทธศาสนาและการเรียนการสอนธรรมศึกษาในสถานศึกษาอย่างเป็นระบบ ๖. แนวทางการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาด้านสาธารณสงเคราะห์ ๑. สร้างระบบและกลไกเพื่อกำกับ ดูแล และบริหารภารกิจด้านการสาธารณสงเคราะห์ให้เป็นรูปธรรม โดยสามารถวัดประเมินผลได้ ๒. ส่งเสริมและสนับสนุนพระสงฆ์นักพัฒนาให้ทำงานร่วมกับเครือข่ายทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ๓. ส่งเสริมและสนับสนุนองค์กรทางพระพุทธศาสนาเพื่อพัฒนาวิชาชีพสำหรับชุมชน ๔. จัดตั้งกองทุนเพื่อการสาธารณสงเคราะห์ ๕. จัดให้มีสถาบันทางการเงินเพื่อสนับสนุนงานด้านสาธารณสงเคราะห์ ๗. แนวทางการพัฒนาพุทธมณฑลให้เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก ๑. สนับสนุนให้มีการจัดตั้งสำนักงานกลางการบริหารงานปกครองคณะสงฆ์ระดับเจ้าคณะภาค เจ้าคณะหน และสำนักงานมหาเถรสมาคม ณ พุทธมณฑล ๒. พัฒนาพุทธมณฑลให้เป็นศูนย์กลางแหล่งข้อมูลการศึกษาค้นคว้างานวิชาการ งานวิจัยเกี่ยวกับหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา โดยนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ ๓. สนับสนุนและส่งเสริมให้มีอนุพุทธมณฑลครบทุกจังหวัด โดยกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน ๔. พัฒนาด้านกายภาพของพุทธมณฑลให้เหมาะสมรองรับการเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก ๕. พัฒนาพุทธมณฑลเป็นที่ตั้งกระทรวงพระพุทธศาสนา อนึ่ง สำหรับการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาที่ดำเนินการไปล่วงหน้านั้น สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้เสนอบรรจุลงในร่างแผนการปฏิรูปประเทศหนึ่งปีครึ่ง (ในช่วงรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกีฬา วัฒนธรรม การศาสนา คุณธรรม และจริยธรรม (ด้านศาสนา) แล้ว ดังแนบ ในการนี้ พระพรหมมุนี กรรมการมหาเถรสมาคม วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร พระพรหมโมลี กรรมการมหาเถรสมาคม วัดปากน้ำ กรุงเทพมหานคร และพระพรหมบัณฑิต กรรมการมหาเถรสมาคม วัดประยุรวงศาวาส กรุงเทพมหานคร ได้พิจารณาเห็นควรนำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อโปรดพิจารณา และมอบผู้แทนมหาเถรสมาคมเป็นประธานคณะกรรมการ ๗ ฝ่าย เพื่อให้ขับเคลื่อนการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาด้านต่าง ๆ และปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบมหาเถรสมาคม ว่าด้วยคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ ของ มหาเถรสมาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ ดังนี้ ๑. คณะกรรมการฝ่ายปกครอง มอบ สมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นประธาน ๒. คณะกรรมการฝ่ายศาสนศึกษา มอบ พระพรหมโมลี เป็นประธาน ๓. คณะกรรมการฝ่ายเผยแผ่ มอบ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เป็นประธาน ๔. คณะกรรมการฝ่ายสาธารณูปการ มอบ พระพรหมมุนี เป็นประธาน ๕. คณะกรรมการฝ่ายศึกษาสงเคราะห์ มอบ พระพรหมบัณฑิต เป็นประธาน ๖. คณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ มอบ พระพรหมวชิรญาณ เป็นประธาน ๗. คณะกรรมการฝ่ายพัฒนาพุทธมณฑลให้เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก มอบ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เป็นประธาน ให้ประธานกรรมการไปรวบรวมรายชื่อคณะกรรมการเสนอมหาเถรสมาคมในครั้งต่อไป ที่ประชุม พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบ และให้ดำเนินการได้ทันที โดยไม่ต้องรอรับรองรายงาน การประชุม
เอกสารประกอบเพิ่มเติม
เอกสารประกอบ 1 : c_05290259_106 รายงานการระดมความคิดเห็น พัฒนาภารกิจงานคณะสงฆ์ในการปฏิรูปพระพุทธศาสนา.pdf (851.82 kb)
จำนวนเข้าดู : 2686
ปรับปรุงล่าสุด : 16 มีนาคม พ.ศ. 2559 11:36:51
ข้อมูลเมื่อ : 16 มีนาคม พ.ศ. 2559 11:36:51