มติมหาเถรสมาคม
ครั้งที่ 17/2560
มติที่ 401/2560
เรื่อง การถวายการสนับสนุนกิจการและการบริหารการปกครองคณะสงฆ์
ในการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๑๗/๒๕๖๐ เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๐ เลขาธิการ มหาเถรสมาคมเสนอว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติในฐานะฝ่ายเลขานุการที่ขับเคลื่อนมาตรการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๔๙/๒๕๕๙ ได้เสนอคณะรัฐมนตรี ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๖๐ ความว่า ในปัจจุบันยังไม่มีระบบ-ฐานข้อมูลหนังสือสุทธิอิเล็กทรอนิกส์ของพระภิกษุสามเณร เพื่อใช้ในการบันทึกข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็น เช่น ประวัติส่วนตัว คุณสมบัติ การเข้ารับการอบรมและการแต่งตั้ง/เลื่อนสมณศักดิ์ การย้ายสังกัดวัด ทำให้ไม่มีข้อมูลเพื่อใช้ในการบันทึกทะเบียนประวัติเพื่อสนับสนุนและใช้เป็นข้อมูลในการสนับสนุนคุณภาพชีวิตของพระภิกษุสามเณรในด้านต่าง ๆ จึงเห็นควรให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ประสานกับกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการต่างประเทศ ในการจัดทำระบบฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์หนังสือสุทธิ เพื่อให้มีฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงกัน ซึ่งคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติพิจารณาดำเนินการจัดทำสมาร์ทการ์ดพระภิกษุสามเณรเพื่อประโยชน์ต่อการบริหารการปกครองและการสนับสนุนกิจการคณะสงฆ์ ต่อมา เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๐ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายออมสิน ชีวะพฤกษ์) ได้หารือกับผู้แทนมหาเถรสมาคม ๓ รูป ประกอบด้วย พระพรหมมุนี พระพรหมโมลี และ พระพรหมบัณฑิต พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเกี่ยวกับแนวทางการถวายการสนับสนุนกิจการและการบริหารการปกครองคณะสงฆ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความเจริญมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนา ณ ห้องประชุมสีเหลือง สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยมีประเด็นการหารือ ดังนี้ ๑. เรื่องแนวทางการจัดทำสมาร์ทการ์ดพระภิกษุสามเณร ผู้แทนมหาเถรสมาคมกล่าวว่า เรื่องการจัดทำสมาร์ทการ์ดดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ คณะสงฆ์ เคยปรารภและขับเคลื่อนเพื่อให้มีการดำเนินงานมาโดยลำดับ ซึ่งคณะสงฆ์ไม่ขัดข้องที่รัฐบาลเสนอให้มีการจัดทำสมาร์ทการ์ดดังกล่าว เพราะจะเกิดผลดีต่อการบริหารการปกครองคณะสงฆ์ ทั้งนี้ ปัจจุบันพระภิกษุสามเณร ทั่วประเทศได้ไปจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนของแต่ละรูปอยู่แล้ว หากจะจัดทำสมาร์ทการ์ดเห็นควรขอความร่วมมือกระทรวงมหาดไทยเพื่อกำหนดรายละเอียดต่าง ๆ ที่คณะสงฆ์และรัฐบาลเห็นว่ามีประโยชน์ต่อการบริหารการปกครองคณะสงฆ์ลงในฐานข้อมูลของพระภิกษุสามเณรที่ขอมีบัตรประจำตัวประชาชนจะทำให้การดำเนินงาน . ดังกล่าวมีความรวดเร็วและประหยัดงบประมาณ ซึ่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายออมสิน ชีวะพฤกษ์) กล่าวว่าได้หารือเป็นการภายในกับผู้บริหารกระทรวงมหาดไทยแล้ว กระทรวงมหาดไทยยินดีให้ความร่วมมือ และให้การสนับสนุน ที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นชอบร่วมกัน ดังนี้ ๑. ยังคงหนังสือสุทธิพระภิกษุสามเณรไว้เช่นเดิม ๒. การจะกำหนดรายละเอียดต่าง ๆ ของพระภิกษุสามเณรลงในฐานข้อมูลขอให้มีคณะทำงานพิจารณาโดยรอบคอบ ๓. จะต้องกำหนดสิทธิผู้เข้าถึงฐานข้อมูลพระภิกษุสามเณรให้ชัดเจน ๔. เสนอมหาเถรสมาคมให้ความเห็นชอบการจัดทำสมาร์ทการ์ดพระภิกษุสามเณร ๕. คณะสงฆ์และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ควรแยกฐานข้อมูลพระภิกษุสามเณรออกมาต่างหากจากฐานข้อมูลบัตรประจำตัวประชาชนของกระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ต่อการบริหารกิจการพระพุทธศาสนา ๒. เรื่องการจัดทำบัญชีทรัพย์สินของวัด สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้เสนอต่อที่ประชุมเกี่ยวกับการจัดทำบัญชีทรัพย์สินของวัดว่า เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๐ คณะรัฐมนตรีมีมติให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณากำหนดมาตรการกำกับ ดูแล และตรวจสอบการใช้จ่ายเงินบริจาคของทุกศาสนาให้ถูกต้อง เหมาะสมและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการบริจาค เพื่อป้องกันการนำเงินดังกล่าวไปใช้หรือสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมที่ไม่เหมาะสมหรืออาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของสังคม ในประเด็นดังกล่าว สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้เรียนต่อที่ประชุมว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๐ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ได้กำหนดตัวชี้วัดของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเกี่ยวกับการกำกับดูแลการใช้จ่ายเงินของวัด คือ ตัวชี้วัดที่ ๓ ความสำเร็จของการพัฒนาระบบการรายงานทางการเงินของวัด ประกอบด้วย ๒ ตัวชี้วัดย่อย ดังนี้ ตัวชี้วัดที่ ๓.๑ ร้อยละของวัดที่มีข้อมูลรายงานบัญชีรายรับ - รายจ่าย ซึ่งกำหนดให้ทุกวัดจัดส่งรายงานบัญชีรายรับ - รายจ่าย ประจำปี ๒๕๖๐ (ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๙ ถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๐) ตามแบบที่กำหนด (ร้อยละ ๑๐๐) ยกเว้น อนัมนิกายและจีนนิกาย ส่งให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ภายในวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ตัวชี้วัดที่ ๓.๒ ความสำเร็จของการพัฒนาระบบบัญชีมาตรฐานสำหรับวัดให้ดำเนินการ ดังนี้ (๑) ศึกษารูปแบบบัญชีและข้อมูลรับ - จ่ายของวัดที่ส่งรายงานการเงินของวัด (๒) ศึกษารูปแบบบัญชีของหน่วยงานอื่น ๆ (๓) ร่างระบบบัญชีมาตรฐานสำหรับวัด (๔) คัดเลือกวัดเพื่อเป็นวัดนำร่อง จำนวน ๑ วัด (๕) เสนอร่างระบบบัญชีมาตรฐานสำหรับวัด และวัดนำร่อง จำนวน ๑ วัด ต่อผู้บริหารตามลำดับชั้น เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ (๖) ถวายคำแนะนำชี้แจงแก่วัดที่ได้รับคัดเลือก เพื่อให้วัดจัดทำบัญชีตามระบบบัญชีมาตรฐานสำหรับวัด (๗) สรุปผลการจัดทำบัญชีตามระบบบัญชีมาตรฐานของวัดนำร่อง ตามข้อ (๖) และร่างระบบบัญชีมาตรฐานสำหรับวัด เสนอมหาเถรสมาคมเพื่อพิจารณา ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการตามตัวชี้วัดดังกล่าว ทั้งนี้ แนวทางการกำกับดูแลการใช้จ่ายเงินของวัดเป็นไปตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ.๒๕๑๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ข้อ ๖ ซึ่งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติอยู่ระหว่างการจัดทำระบบบัญชีมาตรฐานสำหรับวัด หากระบบบัญชีดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจาก มหาเถรสมาคมแล้วจะได้ดำเนินการแก้ไขกฎกระทรวงดังกล่าว เพื่อบังคับใช้และรายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป ที่ประชุมมอบสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติกำหนดรูปแบบการรายงานบัญชีมาตรฐานสำหรับวัด ที่วัดทุกวัดสามารถดำเนินการได้โดยง่ายไม่ยุ่งยากหรือซับซ้อนจนเกินไป สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเห็นควรนำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อโปรด ๑. ให้นำเรื่องการจัดทำสมาร์ทการ์ดพระภิกษุสามเณรไปอยู่ในแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา ๒. มอบคณะกรรมการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา ฝ่ายปกครอง ของมหาเถรสมาคมพิจารณาร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับการกำหนดรายละเอียดต่าง ๆ ของพระภิกษุสามเณรเพิ่มเติมลงในฐานข้อมูลบัตรประจำตัวประชาชนของพระภิกษุสามเณรและการกำหนดสิทธิผู้เข้าถึงฐานข้อมูลดังกล่าวให้ชัดเจน รวมถึงการพิจารณาการกำหนดฐานข้อมูลพระภิกษุสามเณร แยกออกมาจากฐานข้อมูลของกระทรวงมหาดไทย เมื่อได้ข้อสรุปแล้วให้นำเสนอ มหาเถรสมาคมเพื่อโปรดพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป ๓. เรื่องการจัดทำบัญชีทรัพย์สินของวัด มอบคณะกรรมการฝ่ายสาธารณูปการ ของมหาเถรสมาคมพิจารณารายละเอียดต่าง ๆ ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเสนอ และ ให้ดำเนินการได้ทันที โดยไม่ต้องรอรับรองรายงานการประชุม
เอกสารประกอบเพิ่มเติม
เอกสารประกอบ 1 : c_17200760_401 การถวายการสนับสนุนกิจการและการบริหารการปกครองคณะสงฆ์.pdf (612.99 kb)
จำนวนเข้าดู : 2008
ปรับปรุงล่าสุด : 29 มีนาคม พ.ศ. 2561 14:45:38
ข้อมูลเมื่อ : 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 11:26:08