มติมหาเถรสมาคม
ครั้งที่ 21/2560
มติที่ 501/2560
เรื่อง ข้อสังเกตต่อร่างพระราชบัญญัติอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา พ.ศ. ....
ในการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๒๑/๒๕๖๐ เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๐ เลขาธิการมหาเถร-สมาคมเสนอว่า พระพรหมมุนี กรรมการมหาเถรสมาคม แจ้งว่า ตามที่มหาเถรสมาคมได้มีมติมอบหมายให้พระพรหมมุนี พระพรหมโมลี และพระพรหมบัณฑิต ไปศึกษาเกี่ยวกับพระราชบัญญัติอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา พ.ศ. .... ที่จะนำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป นั้น ทั้งนี้ ได้ร่วมประชุมกับประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษากฎหมายเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ในคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว และคณะที่มาให้ความเห็นบางประการแล้ว มีข้อสังเกตต่อร่างพระราชบัญญัติอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา พ.ศ. .... รวม ๘ ข้อ ดังนี้ ๑. การปกครองคณะสงฆ์มีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ และกฎ ระเบียบ ประกาศ ซึ่งมหาเถรสมาคมออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์อยู่แล้ว กิจการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารคณะสงฆ์ เช่น พระวินยาธิการ และสำนักปฏิบัติธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ร่างพระราชบัญญัติฯ นำไปบรรจุลงไว้เป็นเนื้อหานั้น อยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ของมหาเถร-สมาคมและการดำเนินงานของพระสังฆาธิการตามลำดับการปกครอง ร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติอยู่แล้ว หากภาครัฐเห็นสมควรสนับสนุนหรือปรับปรุงให้การดำเนินงานของพระวินยาธิการ มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ก็สามารถมอบหมายให้รัฐมนตรีที่รับผิดชอบ ประสานนโยบายกับมหาเถรสมาคม และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อออกกฎ ระเบียบ ประกาศ ที่เกี่ยวข้องได้โดยตรง ดังนั้น การบรรจุเรื่องที่ซ้ำซ้อนกับอำนาจหน้าที่ของมหาเถรสมาคม และพระสังฆาธิการ เช่น เจ้าคณะปกครองในลำดับต่าง ๆ ตลอดจนสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรีโดยตรง ย่อมไม่มีเหตุผลที่สมควร (มาตรา ๔ มาตรา ๑๑ มาตรา ๒๒ ถึง มาตรา ๓๐) ๒. ลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ดำเนินการตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์และพระธรรมวินัย ซึ่งมีกลไกการบังคับบัญชา การวินิจฉัย และการระงับอธิกรณ์ ตามกระบวนการทางคณะสงฆ์อยู่แล้ว การที่จะกำหนดให้ พระวินยาธิการเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาและตามร่างพระราชบัญญัติฯ ถึงขนาดสร้างกลไกให้มีบทกำหนดโทษทางอาญาขึ้นด้วย ดังเป็นการกำหนดองค์กรตำรวจขึ้นในคณะสงฆ์ ย่อมขัดแย้งกับการดำเนินการตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ และประกาศของคณะสงฆ์ ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ และไม่ต้องตามพระธรรมวินัย ควรพิจารณาให้รอบคอบอย่างยิ่งถึงการลอกเลียนลักษณะองค์กรและวิธีการทางโลกมาบังคับกับการคณะสงฆ์ซึ่งมีบรรทัดฐานแตกต่างจากระบบวิธีฝ่ายบ้านเมือง การเร่งรัดออกกฎหมายในลักษณะนี้โดยไม่รอบคอบอาจเกิดผลกระทบกระเทือนในเชิงโครงสร้างกฎเกณฑ์และเชิงระบบการบริหารกิจการพระพุทธศาสนาได้ รวมถึงผลที่ติดตามมาในเชิงโครงสร้างอำนาจอีกทั้งการประพฤติมิชอบในการเข้าสู่ตำแหน่ง ตลอดจนเกิดวิกฤตภาวะในองค์กรที่ครองอำนาจป้องกันและปราบปราม ดังเช่นที่องค์กรทางโลกกำลังเผชิญปัญหาอยู่ (มาตรา ๒๒ ถึงมาตรา ๓๐) ๓. สัดส่วนของกรรมการในคณะกรรมการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาตามร่างพระราชบัญญัติฯ ทั้งระดับชาติและระดับจังหวัด เป็นไปในลักษณะที่ใช้บุคลากรฝ่ายบ้านเมือง ทั้งข้าราชการการเมือง ข้าราชการประจำ และฆราวาสที่นายกรัฐมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นสมควรแต่งตั้ง และเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ เข้ามาเป็นองค์ประกอบหลักของคณะกรรมการโดยไม่ได้สัดส่วนกับกรรมการฝ่ายบรรพชิต ทั้งที่โดยการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาควรได้รับนโยบายและการกำหนดทิศทางจากคณะสงฆ์เป็นสำคัญ เท่ากับว่าร่างพระราชบัญญัติฯ นี้ กำลังถ่ายโอนการบริหารการปกครองคณะสงฆ์ การกำหนดแนวทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนา การจัดการศาสนศึกษา ฯลฯ ไปสู่ฆราวาสซึ่งเป็นข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำ (มาตรา๔ มาตรา ๕ มาตรา ๑๖) ๔. อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ทั้งระดับชาติและระดับจังหวัด ครอบคลุมถึงขนาดกำหนดนโยบายและแนวทางในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา แผนพัฒนา รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบ เงื่อนไข เกี่ยวกับพระวินยาธิการ สำนักปฏิบัติธรรม แล้วให้นายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีพิจารณา เท่ากับว่าเป็นการมอบภารกิจตามอำนาจหน้าที่ที่คณะสงฆ์และพระสังฆาธิการมีอยู่นั้น ไปสู่ฆราวาสซึ่งเป็นข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำ ให้เป็นผู้พิจารณากำหนดนโยบายแทนคณะสงฆ์ (มาตรา ๑๑ มาตรา ๑๘) ๕. เจ้าคณะใหญ่จีนนิกายและเจ้าคณะใหญ่อนัมนิกาย อยู่ภายใต้การปกครองบังคับบัญชาของ สมเด็จพระสังฆราช ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ จึงไม่มีเหตุที่จะยกให้เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการเป็นกรณีพิเศษยิ่งไปกว่าเจ้าคณะปกครองในคณะสงฆ์ไทย (มาตรา ๖) ๖. การรับเรื่องร้องเรียนหรือร้องทุกข์เกี่ยวกับกิจการพระพุทธศาสนาในจังหวัด เป็นภารกิจของ พระสังฆาธิการและสำนักงานพระพุทธศาสาแห่งชาติ ตลอดจนศูนย์ดำรงธรรม และศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ที่รัฐบาลและหน่วยราชการรับผิดชอบอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาเพื่อรับผิดชอบภารกิจเหล่านี้ ให้ซ้ำซ้อนและสิ้นเปลืองอีก อีกทั้งการระบุให้จัดอาสาสมัครดำเนินการเรื่องดังกล่าว ลงไปในกฎหมายระดับพระราชบัญญัติโดยไม่กำหนดอำนาจหน้าที่หรือบทบาทที่ชัดเจน นับเป็นการบรรจุเนื้อหากฎหมายที่ไม่มีสาระเพียงพอจะบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของการเป็นอาสาสมัครกับการปฏิบัติการเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนหรือร้องทุกข์เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกันได้ (มาตรา ๑๘) ๗. การบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการพระพุทธศาสนา ผู้กำหนดนโยบายและผู้ร่าง พึงศึกษาพระธรรมวินัยอย่างถ่องแท้ กับทั้งโครงสร้างและรายละเอียดของกฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ ตามกฎหมายคณะสงฆ์ที่บังคับใช้อยู่ให้ถี่ถ้วน พร้อมกันนั้นควรดำเนินงานร่วมกับคณะสงฆ์อย่างใกล้ชิดในการกำหนดนโยบายและรายละเอียด ด้วยความเข้าใจในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในประเทศไทย ประวัติศาสตร์ชาติไทย ระบบการปกครองคณะสงฆ์ นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน บริบททางสังคมในปัจจุบัน ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคอย่างรอบด้านและเข้าใจกระจ่าง มิใช่เพียงการมองจากภายนอกอย่างที่ปรากฏในสื่อสารมวลชน หรือโดยบุคคลที่มิได้คลุกคลีหรือทำงานใกล้ชิดร่วมกับคณะสงฆ์ภายใต้ครรลองของพระธรรมวินัยและกฎหมายคณะสงฆ์ ซึ่งอาจทำให้เกิดอคติหรือมายาภาพต่อกิจการคณะสงฆ์ได้ ๘. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก ดังนั้น การปกครองคณะสงฆ์นับแต่อดีตจนปัจจุบัน จึงอยู่ภายใต้ พระบรมราชูปถัมภ์ ที่แปลว่าการอุปถัมภ์และคุ้มครองของอัครศาสนูปถัมภก ตลอดจนเป็นไปตามกฎหมายคณะสงฆ์ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นไว้ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และมีบัญชาให้นำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อโปรดพิจารณา ที่ประชุมพิจารณาข้อสังเกตทั้ง ๘ ข้อแล้ว เห็นว่าพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ตลอดถึงกฎ ระเบียบต่าง ๆ ของมหาเถรสมาคมใช้ดี อยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องมีพระราชบัญญัติอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา พ.ศ. ....
เอกสารประกอบเพิ่มเติม
เอกสารประกอบ 1 : c_21300860_501 ข้อสังเกตต่อร่างพระราชบัญญัติอุปถัมป์คุ้มครองพระพุทธศาสนา.pdf (560.11 kb)
จำนวนเข้าดู : 1793
ปรับปรุงล่าสุด : 19 มีนาคม พ.ศ. 2561 14:22:22
ข้อมูลเมื่อ : 13 กันยายน พ.ศ. 2560 09:03:40