มติมหาเถรสมาคม
ครั้งที่ 06/2560
มติที่ 169/2560
เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา พ.ศ. ....
ในการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๖/๒๕๖๐ เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๖๐ เลขาธิการ มหาเถรสมาคมเสนอว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้มีบันทึก ที่ พศ ๐๐๐๑/๐๐๐๒๖ ลงวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๐ เรียน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายออมสิน ชีวะพฤกษ์) เพื่อพิจารณานำเสนอ รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติอุปถัมภ์และคุ้มครอง-พระพุทธศาสนา พ.ศ. ..... และส่งเรื่องไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี พิจารณาดำเนินการต่อไป สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติขอประทานกราบทูลว่า ๑. ฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้มีบันทึก ที่ คสช (กย)/๖๘๐ ลงวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๗ แจ้งว่า ที่ประชุมคณะที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ในการประชุมครั้งที่ ๑๑/๒๕๕๗ เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๗ ได้มีมติเห็นชอบในหลักการและให้เสนอ ร่างกฎหมายให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการนำเข้าที่ประชุม คสช. เพื่อให้ความเห็นชอบ ในหลักการร่างพระราชบัญญัติอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา พ.ศ. ..... และส่งสำนักงานคณะกรรมการ-กฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป ๒. สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้มีหนังสือที่ นร ๐๕๐๓/๑๕๒๙๐ ลงวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๗ ถึง สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แจ้งว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ประชุมปรึกษาเมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๗ ลงมติว่า ๒.๑ อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา พ.ศ. .... ตามที่ฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการ-กฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับข้อสังเกตของเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไปประกอบการพิจารณาในประเด็น บทกำหนดโทษทางอาญาสำหรับพระภิกษุสามเณรที่กระทำล่วงละเมิดพระธรรมวินัย ให้สอดคล้องกับกฎหมายอาญาบนพื้นฐานของความเท่าเทียมกันของบุคคลในสังคม ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป ๒.๒ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งกองทุนอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๔ (เรื่องการจัดตั้งทุนหมุนเวียนของหน่วยงานรัฐ) ซึ่งให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่ประสงค์จะขอจัดตั้งทุนหมุนเวียนต้องเสนอเรื่องคณะกรรมการกลั่นกรองการจัดตั้งทุนหมุนเวียนพิจารณาด้วย และแจ้งผลไปที่สำนักงาน-คณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ได้ส่งร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ไปเพื่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาตามมติคณะรักษาความสงบแห่งชาติต่อไปแล้ว ๓. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ นร ๐๙๐๖/๑๒ ลงวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๘ ถึง สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แจ้งว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ ๘ ได้ตรวจ ร่างพระราชบัญญัติอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา พ.ศ. .... เสร็จแล้ว โดยสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านการตรวจพิจารณามีดังนี้ ๓.๑ ได้ปรับปรุงรูปแบบการร่างกฎหมายเสียใหม่ โดยตัดการกำหนดหมวดหมู่ใน ร่างพระราชบัญญัติฯ ออก เนื่องจากสาระสำคัญของร่าง ฯ นี้ ไม่มีความซับซ้อน และมีจำนวนมาตราไม่มากนัก จึงไม่จำเป็นต้องกำหนดหมวดหมู่แต่อย่างใด และได้จัดเรียงลำดับมาตราใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ๓.๒ ได้ปรับปรุงบทนิยามต่าง ๆ ในร่างเดิม มาตรา ๓ ให้สอดคล้องกับสาระของร่างฯ ในการนี้ได้แก้ไขเพิ่มเติมในสาระสำคัญดังนี้ - แก้ไขเพิ่มเติมความหมายของบทนิยามคำว่า สำนักปฏิบัติธรรม จาก บุคคลหรือ คณะบุคคล เป็น นิติบุคคล เพื่อมุ่งส่งเสริมเฉพาะสำนักปฏิบัติธรรมที่วัดหรือนิติบุคคลจัดตั้งขึ้น โดยไม่รวมถึง สำนักปฏิบัติธรรมที่จัดตั้งขึ้นโดยบุคคลธรรมดาหรือคณะบุคคลเนื่องจากไม่มีความแน่นอนและยากต่อการตรวจสอบ - ตัดคำว่า คุ้มครอง ศาสนธรรม ศาสนศึกษา สำนักเรียน พระวินยาธิการ กระทำให้เกิดความเสียหายทางพระพุทธศาสนา และ รัฐมนตรี ออก เนื่องจากในเนื้อหาของร่างฯ ได้แก้ไขปรับปรุงให้มีความชัดเจนแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องกำหนดนิยามของคำดังกล่าวไว้ นอกจากนี้ได้ตัดบทนิยามคำว่า คณะกรรมการบริหาร และ กองทุน ออก เนื่องจากไม่มีการกำหนดเรื่องของกองทุนไว้ในเนื้อหาของร่างฯ แล้ว ๓.๓ แก้ไขเพิ่มเติมร่างเดิมมาตรา ๕ (แนวทางให้รัฐอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา) โดยแก้ไขปรับปรุงให้เกิดความชัดเจนและสอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริง เพื่อให้สามารถนำไปสู่แนวทางปฏิบัติ ที่เป็นรูปธรรมและบรรลุวัตถุประสงค์ตามร่างพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา ๔) ๓.๔ ปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา (ร่างเดิมมาตรา ๖) โดยได้แก้ไขเพิ่มเติมดังนี้ - แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบกรรมการ จากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นผู้แทนมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และผู้แทนมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เพื่อเปิดโอกาสให้สถาบันการศึกษาของคณะสงฆ์สามารถแต่งตั้งผู้แทนที่มีความรู้ความสามารถจากทั้งสองหน่วยงานดังกล่าวเป็นกรรมการ และแก้ไขกรรมการผู้แทนมหาเถรสมาคม ซึ่งแต่งตั้งจากพระภิกษุ ให้สามารถแต่งตั้งจากพระภิกษุหรือคฤหัสถ์ได้ (ร่างมาตรา ๕ (๒) และ (๓)) - กำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งกรรมการผู้แทนองค์กรทางพระพุทธศาสนา เพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น และกำหนดเพิ่มคุณสมบัติของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้ต้องมีประสบการณ์ เป็นที่ประจักษ์ด้วย (ร่างมาตรา ๕ (๔) และ (๕)) นอกจากนี้ ได้กำหนดให้รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการได้มาซึ่งกรรมการ ตาม (๔) และ (๕) (ร่างมาตรา ๕ วรรคสาม) และกำหนดให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติทำหน้าที่หน่วยงาน-ธุรการของคณะกรรมการไปบัญญัติเป็นร่างมาตรา ๑๕ ๓.๕ เพิ่มเติมให้เจ้าคณะใหญ่จีนนิกายและเจ้าคณะใหญ่อนัมนิกาย เป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา เพื่อให้ทั้งสองนิกายดังกล่าวได้มีส่วนร่วมในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา (ร่างมาตรา ๖) ๓.๖ แก้ไขเพิ่มเติมร่างมาตรา ๗ (คุณสมบัติของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยกำหนดให้กรรมการผู้แทนองค์กรทางพระพุทธศาสนา ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และตัดความ เป็นผู้มีความรู้และความเลื่อมใสในศาสนาพุทธเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นคุณสมบัติที่ยากต่อการพิสูจน์ นอกจากนี้ได้แก้ไขลักษณะต้องห้ามจากเดิมที่กำหนดว่า บุคคลล้มละลายทุจริต เป็น บุคคลล้มละลาย เพื่อห้ามบุคคลล้มละลายไม่ว่าจะล้มละลายโดยทุจริตหรือไม่ เป็นกรรมการ ๓.๗ แก้ไขเพิ่มเติมร่างเดิมมาตรา ๘ ร่างมาตรา ๙ ร่างมาตรา ๑๐ และร่างมาตรา ๑๑ (วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่ง) เพื่อให้ชัดเจนและเป็นไปตามแบบการร่างกฎหมาย โดยแก้ไขให้กรรมการผู้แทนองค์กรทางพระพุทธศาสนามีวาระการดำรงตำแหน่งเช่นเดียวกับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และแก้ไขเหตุแห่ง การพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ รวมทั้งกำหนดให้กรณีที่วาระกรรมการที่เหลืออยู่ไม่ถึงเก้าสิบวัน จะไม่แต่งตั้งกรรมการแทนก็ได้ และกำหนดให้กรรมการประกอบด้วยกรรมการเท่าที่เหลืออยู่ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของ การปฏิบัติงาน (ร่างมาตรา ๘ ร่างมาตรา ๙ และร่างมาตรา ๑๐) ๓.๘ ปรับปรุงร่างเดิมมาตรา ๑๓ (อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ) โดยกำหนดให้มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายและแนวทางการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา สนับสนุนกิจการของคณะสงฆ์ ออกระเบียบในการจดแจ้งและส่งเสริมสำนักปฏิบัติธรรม (ร่างมาตรา ๑๑) ๓.๙ เพิ่มบทบัญญัติเพื่อให้ที่ปรึกษา ประธานกรรมการ กรรมการ และอนุกรรมการได้รับเบี้ยประชุมและประโยชน์ตอบแทน (ร่างมาตรา ๑๔) ๓.๑๐ ปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาจังหวัด (ร่างเดิมมาตรา ๑๔ ร่างเดิม มาตรา ๑๕ และร่างเดิมมาตรา ๑๖) โดยแก้ไขเพิ่มเติมสาระสำคัญ ดังนี้ - แก้ไขชื่อคณะกรรมการจาก คณะกรรมการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาประจำจังหวัด เป็น คณะกรรมการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาจังหวัด (ร่างมาตรา ๑๖) - แก้ไขเพิ่มเติมกรรมการโดยตำแหน่งจาก ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการประจำจังหวัด เป็น ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เขต ๑ และแก้ไขกรรมการที่เจ้าคณะ-จังหวัดแต่งตั้ง โดยแต่งตั้งจากพระภิกษุฝ่ายมหานิกายและฝ่ายธรรมยุต เพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับองค์ประกอบของคณะกรรมการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาจังหวัด (ร่างมาตรา ๑๖ (๒) และ (๓)) - แก้ไขเพิ่มเติมกรรมการผู้แทนองค์กรทางพระพุทธศาสนา โดยกำหนดให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้แต่งตั้ง เพื่อให้เกิดความชัดเจน และกำหนดเพิ่มคุณสมบัติของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ให้ต้องมีประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาด้วย (ร่างมาตรา ๑๖(๔) และ (๕)) นอกจากนี้ได้กำหนดให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการได้มาซึ่งกรรมการตาม (๔) และ (๕) (ร่างมาตรา ๑๖ วรรคสาม) และกำหนดให้สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานธุรการของคณะกรรมการดังกล่าว (ร่างมาตรา ๒๐) ๓.๑๑ เพิ่มเติมให้เจ้าคณะจังหวัดฝ่ายมหานิกายและเจ้าคณะจังหวัดฝ่ายธรรมยุต เป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาจังหวัด เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาในระดับจังหวัด (ร่างมาตรา ๑๗) ๓.๑๒ กำหนดให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการได้รับเบี้ยประชุมและประโยชน์ตอบแทนอื่นของ ที่ปรึกษา ประธานกรรมการ กรรมการ และอนุกรรมการมาใช้บังคับแก่คณะกรรมการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาจังหวัดโดยอนุโลม (ร่างมาตรา ๑๙) ๓.๑๓ แก้ไขเพิ่มเติมร่างเดิมมาตรา ๑๙ (สำนักปฏิบัติธรรม) โดยเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจดแจ้งสำนักปฏิบัติธรรม ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนากำหนด (ร่างมาตรา ๒๑) ๓.๑๔ แก้ไขเพิ่มเติมร่างเดิมมาตรา ๒๗ ร่างเดิมมาตรา ๒๘ และร่างเดิมมาตรา ๒๙ (พระวินยาธิการและพนักงานเจ้าหน้าที่) โดยเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการแต่งตั้ง คุณสมบัติวาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของพระวินยาธิการ รวมทั้งแก้ไขอำนาจหน้าที่ของพระวินยาธิการ และอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของพระวินยาธิการและพนักงานเจ้าหน้าที่มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่มีอยู่มากขึ้น (ร่างมาตรา ๒๒ ร่างมาตรา ๒๓ ร่างมาตรา ๒๔ ร่างมาตรา ๒๕ และร่างมาตรา ๒๖) นอกจากนี้ได้กำหนดให้การปฏิบัติหน้าที่ของพระวินยาธิการและพนักงานเจ้าหน้าที่ ต้องแสดงบัตรประจำตัวต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยแบบบัตรประจำตัวให้เป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรีกำหนด (ร่างมาตรา ๒๗) ๓.๑๕ ปรับปรุงบทกำหนดโทษ โดยตัดบทกำหนดโทษที่บัญญัติไว้ในร่างเดิมออกทั้งหมด และเพิ่มบทกำหนดโทษในกรณีการขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ของพระวินยาธิการ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๒๖ (๒) หรือ (๔) เป็นความผิดอาญา (ร่างมาตรา ๒๙) และการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพระวินยาธิการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๒๖ (๖) เป็นการกระทำที่มีความผิด และมีโทษทางอาญา (ร่างมาตรา ๓๐) ทั้งนี้ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของพระวินยาธิการและพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นไปอย่าง มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ได้แก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคำในบันทึกหลักการและเหตุผลประกอบร่างพระราชบัญญัติฯ รวมทั้งร่างพระราชบัญญัติฯ เพื่อให้ถูกต้องและเหมาะสมยิ่งขึ้น อนึ่ง โดยที่กรณีนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงได้เสนอ ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป และขอให้ท่าน แจ้งยืนยันความเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวที่ผ่านการตรวจพิจารณาแล้วนี้ ไปยังสำนักเลขาธิการ-คณะรัฐมนตรีโดยตรงต่อไป ๔. สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ พศ ๐๐๐๑/๐๐๒๓ ลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แจ้งยืนยันร่างพระราชบัญญัติอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา พ.ศ. .... ไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป ๕. สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ นร ๐๕๐๓/ว๓๗๗ ลงวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ ถึง สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แจ้งว่า ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ คณะรัฐมนตรีเห็นว่าเพื่อให้ร่างกฎหมายสำคัญที่มีความจำเป็นเร่งด่วนตามนโยบายของรัฐบาล หรือเพื่อประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดินหรือการปฏิรูปประเทศ ตลอดจนเพื่อให้การปรับปรุงกฎหมาย ในส่วนที่เกี่ยวกับกลไกประชารัฐมีผลใช้บังคับโดยรวดเร็ว จึงมีมติให้เร่งรัดดำเนินการให้มีการเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติ หรือให้มีผลใช้บังคับภายในเดือนธันวาคม ๒๕๕๙ จำนวน ๑๖ ฉบับ ทั้งนี้ ในการเสนอร่างกฎหมายต่อคณะรัฐมนตรี ให้ทุกภาคส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐพิจารณาความสอดคล้องกับ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ผ่านความเห็นชอบการออกเสียงประชามติ รวมทั้งพิจารณาความสอดคล้องกับกฎหมายที่ต้องดำเนินการตราตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวด้วย อาทิ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ กฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ กฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ โดยให้บรรจุเป็นรายการเพิ่มเติมในแบบตรวจสอบความจำเป็นในการตรากฎหมายที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐทุกแห่งต้องถือปฏิบัติ และให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอความเห็นในประเด็นความสอดคล้องดังกล่าว ก่อนนำเรื่อง เสนอคณะรัฐมนตรี ต่อมา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ นร ๐๕๐๓/ว๓๘๔ ลงวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ ถึงสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แจ้งว่า คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ ลงมติให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่กระบวนการ นิติบัญญัติหรือให้มีผลใช้บังคับภายในเดือนธันวาคม ๒๕๕๙ เพิ่มเติมอีกจำนวน ๒๕ ฉบับ ซึ่งรวมถึง ร่างพระราชบัญญัติอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา พ.ศ. .... โดยมอบหมายให้รัฐมนตรีประจำสำนัก-นายกรัฐมนตรี (นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ) ประสานงานกับคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเห็นควรนำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อโปรดพิจารณา ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติว่า ไม่ขอแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ส่วนร่างพระราชบัญญัติอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา พ.ศ. .... มอบ พระพรหมมุนี กรรมการมหาเถรสมาคม วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร พระพรหมโมลี กรรมการมหาเถรสมาคม วัดปากน้ำ กรุงเทพมหานคร และพระพรหมบัณฑิต กรรมการมหาเถรสมาคม วัดประยุรวงศาวาส กรุงเทพมหานคร ไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม และให้ดำเนินการได้ทันที โดยไม่ต้องรอรับรองรายงานการประชุม
เอกสารประกอบเพิ่มเติม
เอกสารประกอบ 1 : c_06100260_169 ร่างพระราชบัญญัติอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา.pdf (1.19 mb)
จำนวนเข้าดู : 1106
ปรับปรุงล่าสุด : 29 มีนาคม พ.ศ. 2561 14:45:23
ข้อมูลเมื่อ : 29 มีนาคม พ.ศ. 2561 14:45:23