มติมหาเถรสมาคม
ครั้งที่ 21/2561
มติที่ 466/2561
เรื่อง แนวทางปฏิบัติการย้ายเข้า ย้ายออก จากทะเบียนบ้านวัด
ในการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๒๑/๒๕๖๑ เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๑ เลขาธิการมหาเถรสมาคมเสนอว่า ตามมติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๒/๒๕๖๑ เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๖๑ ที่ประชุม มีมติเห็นชอบเรื่อง การขับเคลื่อนการจัดทำสมาร์ทการ์ด และการจัดเก็บฐานข้อมูลพระภิกษุ สามเณร ทั่วประเทศ และมีข้อหารือในกรณีพระภิกษุ สามเณร ที่เข้ามาอยู่อาศัยในวัดใหม่ (สำนักเรียน) เพื่อศึกษา พระปริยัติธรรมบางวัด (สำนักเรียน) มีกฎระเบียบฯ ในการเข้ามาศึกษาพระปริยัติธรรมว่า หากสอบไม่ได้ภายใน ๓ ปี จะต้องพ้นจากสังกัดวัดนั้น หรือให้ย้ายออกจากวัด โดยเจ้าอาวาสสามารถแจ้งคัดชื่อพระภิกษุ สามเณร รูปนั้น ออกจากทะเบียนบ้านวัดได้หรือไม่ และมีแนวทางปฏิบัติอย่างไร นั้น สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้มีหนังสือ ที่ พศ ๐๐๐๖/๐๔๙๒๑ ลงวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๑ หารือกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เรื่อง ขอทราบแนวทางปฏิบัติการย้ายเข้า ย้ายออก จากทะเบียนบ้านวัด ดังนี้ ๑. การย้ายเข้า ย้ายออก จากทะเบียนบ้านวัด และอำนาจหน้าที่ของเจ้าบ้านและผู้อาศัย ๒. ในกรณีพระภิกษุ สามเณร ลาสิกขา เจ้าอาวาสในฐานะเจ้าของบ้านจะอายัด บัตรประจำตัวประชาชนที่มีรูปบุคคลดังกล่าวห่มจีวรพระได้หรือไม่ และจะต้องดำเนินการอย่างไร เพื่อเป็นแนวทางให้กับเจ้าอาวาสในการปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง และเป็นไปตามแนวปฏิบัติของกรมการปกครอง ในเรื่องดังกล่าว กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้มีหนังสือ ที่ มท ๐๓๐๓.๔/๑๕๕๖๙ ลงวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๑ ชี้แจง ดังนี้ ๑. การแจ้งย้ายรายการบุคคลออกจากทะเบียนบ้าน หรือแจ้งย้ายรายการบุคคลเข้าในทะเบียนใด จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ โดยมาตรา ๑๐ (๑) กำหนดให้เจ้าบ้านแจ้งการย้ายออกต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ผู้อยู่ในบ้านย้ายออกจากบ้าน และมาตรา ๓๐ (๒) กำหนดให้เจ้าบ้านแจ้งการย้ายเข้าต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มี ผู้ย้ายที่อยู่เข้าอยู่ในบ้าน ซึ่งในการปฏิบัติเกี่ยวกับการแจ้งย้ายออกหรือย้ายเข้าทะเบียนบ้าน จะต้องมี การย้ายทางกายภาพก่อนจึงจะแจ้งย้ายทะเบียนบุคคลได้ ดังนั้น การที่เจ้าอาวาสจะแจ้งย้ายรายการบุคคลของพระภิกษุ สามเณร ที่สอบพระปริยัติธรรมไม่ได้ภายใน ๓ ปี ออกจากทะเบียนบ้านของวัด (สำนักเรียน) ได้นั้น จะต้องให้พระภิกษุ หรือสามเณร รูปนั้นย้ายออกไปจากวัดนั้นเสียก่อนจึงจะแจ้งย้ายทะเบียนบ้านได้ ๒. บัตรประจำตัวประชาชนเป็นเอกสารราชการที่เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมายออกให้กับผู้ยื่นคำขอมีบัตรที่มีคุณสมบัติตามกฎหมายกำหนด จึงถือได้ว่าบัตรประจำตัวประชาชนเป็นทรัพย์ของผู้ถือบัตรหรือผู้มีชื่อเป็นเจ้าของบัตร โดยพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๖ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๕ ทวิ กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดเอาไปเสียหรืออายัดบัตรของผู้อื่น และกำหนดให้มีโทษจำคุกหรือปรับ ดังนั้น เจ้าอาวาสจึงไม่มีอำนาจอายัดบัตรประจำตัวประชาชนที่มีรูปถ่ายเจ้าของบัตรห่มจีวรพระ แม้ว่าพระภิกษุ สามเณร รูปนั้นจะสอบพระปริยัติธรรมไม่ได้ หรือลาสิกขาแล้วก็ตาม อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สถานะของผู้ถือบัตรตรงกับข้อเท็จจริง จึงควรแนะนำให้ขอมีบัตรใหม่ ในการนี้ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเห็นควรนำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อโปรดทราบถึงแนวทางปฏิบัติการย้ายเข้า ย้ายออก จากทะเบียนบ้านวัด ที่ประชุมรับทราบ และให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติแจ้งเจ้าคณะจังหวัดทั้งสองฝ่าย เพื่อแจ้งวัดทุกวัดในเขตปกครอง และแจ้งสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดทุกจังหวัดทราบต่อไป
เอกสารประกอบเพิ่มเติม
เอกสารประกอบ 1 : c_21200861_466 แนวทางปฏิบัติการย้ายเข้า ย้ายออก จากทะเบียนบ้านวัด.pdf (350.2 kb)
จำนวนเข้าดู : 20277
ปรับปรุงล่าสุด : 24 สิงหาคม พ.ศ. 2561 13:30:35
ข้อมูลเมื่อ : 24 สิงหาคม พ.ศ. 2561 13:30:35