มติมหาเถรสมาคม
ครั้งที่ 19/2546
มติที่ 356/2546
เรื่อง การขอยกวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวง กรุงเทพมหานคร จังหวัดยะลา และจังหวัดสงขลา
มติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๑๙/๒๕๔๖ สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม มติที่ เรื่อง การขอยกวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวง กรุงเทพมหานคร จังหวัดยะลา และจังหวัดสงขลา ในการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๑๙/๒๕๔๖ เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๔๖ เลขาธิการมหาเถรสมาคมเสนอว่า จังหวัดต่าง ๆ ได้ส่งรายงานขอยกวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวง โดยได้รับความเห็นชอบจากเจ้าคณะปกครองฝ่ายสงฆ์ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองตามลำดับ จำนวน ๓ วัด เพื่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติดำเนินการ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติพิจารณาแล้วเห็นว่า วัดทั้ง ๓ วัด ประกอบด้วยลักษณะตามหลักเกณฑ์ คือ ๑. วัดบุณยประดิษฐ์ เขตบางแค กรุงเทพมหานคร ๑.๑ เป็นวัดที่เป็นหลักฐานมีเสนาสนะมั่นคง คือ - มีที่ดินที่ตั้งวัด ตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๕๔๙,๑๗๔๕๒ - ๓, ๑๘๓๖๒๒ และ ๑๑๙๙๑๓ มีเนื้อที่ประมาณ ๒๓ ไร่ ๑๕ ตารางวา - มีอุโบสถ ศาลาการเปรียญ และกุฏิ เป็นหลักฐานมั่นคงถาวร ๑.๒ มีการปกครองเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยการบริหารและการปกครอง ทั้งหมดขึ้นตรงต่อเจ้าอาวาส ซึ่งจัดให้มีเจ้าหน้าที่ดูแลด้านการศึกษาภายในวัดและพระภิกษุสามเณร ดูแลพัฒนาวัด โดยมีกฎระเบียบของวัดให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ รวมทั้งกฎมหาเถร-สมาคม เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน มีสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระปริยัติกิจ-โสภณ มีตำแหน่งทางการปกครองคณะสงฆ์ เป็น เจ้าคณะเขตบางแค มีการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรม ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ และแผนกบาลีตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๘ - ๒ - ๑.๓ เป็นวัดที่มีการพัฒนาและมีกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน กล่าวคือ ทางวัดได้จัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาและเป็นประโยชน์ต่อสังคม ดังนี้ - เชิญชวนประชาชนร่วมโครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น อุทกภัย อัคคีภัย และศพที่ยากจนหรือศพไม่มีญาติ - แจกทุนการศึกษาระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา ๔ ปี ย้อนหลัง เป็นเงิน ๑๑๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนหนึ่งหมื่นบาทถ้วน) - เป็นประธานดำเนินการก่อสร้างอุโบสถวัดโปร่งนกแก้ว อำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ วัดศิลามงคล อำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดหนองบัวลำภู วัดห้วยไส้ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ วัดดงไม้งาม อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ - ตัดถนนจากหน้าวัดไปเชื่อมต่อยังหมู่บ้านเศรษฐกิจ เพื่อเป็นเส้นทางลัดในการจราจรของพระภิกษุสามเณรสะดวกในการออกบิณฑบาต ๑.๔ มีพระภิกษุอยู่จำพรรษาในระยะห้าปี ไม่น้อยกว่า ๒๐ รูป ๑.๕ เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และสังคม คือ มีพระพุทธชินราช จำลอง ซึ่งเป็นพระประธานประจำอุโบสถ พระประธานประจำวิหาร (อุโบสถหลังเก่า) เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย และรูปเหมือนพระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อสด จนฺทสโร) วัดปากน้ำภาษีเจริญ และรูปเหมือนหลวงพ่อสิน ติสฺโส อดีตเจ้าอาวาสวัดบุณยประดิษฐ์ ประดิษฐานอยู่ภายในวิหาร รวมทั้งได้มีการจัดพิธีต่าง ๆ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จ-พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ๑.๖ เป็นวัดที่ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘ ตั้งวัดมาแล้ว ๖๓ ปี ๒. วัดพุทธาธิวาส อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ๒.๑ เป็นวัดที่เป็นหลักฐานมีเสนาสนะมั่นคงถาวร คือ - มีที่ดินที่ตั้งวัด ตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๙๒๕ มีเนื้อที่ประมาณ ๒๓ ไร่ ๓ งาน ๓๐.๘ ตารางวา - มีอุโบสถ ศาลาการเปรียญ และกุฏิ เป็นหลักฐานมั่นคงถาวร - ๓ - ๒.๒ มีการปกครองเป็นระเบียบเรียบร้อย คือ จัดแบ่งหน้าที่ให้กับพระภิกษุ สามเณร ให้ปฏิบัติหน้าที่เท่าเทียมกันตามอายุพรรษา และพระภิกษุสามเณรทุกรูปต้องยอมรับและเคารพต่อกฎระเบียบ และกติกาการปกครองของวัดให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย พระราชบัญญัติ-คณะสงฆ์ ระเบียบและกฎมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน มีสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ที่ พระครูไพศาล-วุฒิกิจ มีตำแหน่งทางการปกครองคณะสงฆ์ เป็น เจ้าคณะอำเภอเบตง มีการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรม ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ๒.๓ เป็นวัดที่มีการพัฒนาและมีกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน กล่าวคือ - สนับสนุนและส่งเสริมให้พระภิกษุสามเณรภายในวัดและเขต ปกครองได้ศึกษาวิชาความรู้ทั้งด้านพระปริยัติธรรม และวิชาการทางโลก ทั้งส่งเสริมพระภิกษุในวัดไปศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมในสำนักเรียนอื่น โดยอยู่ในความอุปการะตามสมควร และเป็นศูนย์กลางการเรียนการสอนธรรมศึกษา และหลักสูตรวิชาพระพุทธศาสนา แก่นักเรียน เยาวชน และประชาชนทั่วไป ตลอดจนสนับสนุนให้วัดเป็นลานวัด ลานใจ ลานกีฬา เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดให้กับเยาวชน - ตั้งรางวัลแก่นักเรียนผู้ขยันเรียน โดยการจัดตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมการ ศึกษาและมอบทุนการศึกษาเป็นประจำทุกปี - ให้ความสงเคราะห์ศูนย์คนชราในอำเภอเบตง ให้ความอนุเคราะห์ที่พักอาศัยแก่ประชาชนผู้เดินทางไกล และให้ความอนุเคราะห์ช่วยเหลือแก่ผู้ที่ประสบภัยต่าง ๆ - มอบเงินให้โรงพยาบาลเบตง เพื่อซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ เป็นเงินจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) และประชุมสังฆมติจัดหาทุนสร้างที่พักสงฆ์อาพาธ ณ โรงพยาบาลเบตง จำนวน ๗๐๐,๐๐๐ บาท (เจ็ดแสนบาทถ้วน) และมอบเงินให้โรงพยาบาลอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อบริการผู้เจ็บป่วยในโรงพยาบาล จำนวน ๓๐,๐๐๐ บาท (สามหมื่นบาทถ้วน) ๒.๔ มีพระภิกษุอยู่จำพรรษาในระยะห้าปี ไม่น้อยกว่า ๒๐ รูป สำหรับลักษณะที่กำหนดไว้ในข้อนี้ คือ จะต้องมีพระภิกษุจำพรรษาตั้งแต่ ๒๐ รูปขึ้นไป ติดต่อกันเป็นเวลา ๕ ปี ถึงปัจจุบัน เห็นสมควรยกเว้นคุณสมบัติข้อนี้ให้กับวัดพุทธาธิวาส เป็นกรณีพิเศษ เพราะวัดพุทธาธิวาสมีพระภิกษุจำพรรษาไม่ครบ ๒๐ รูป ติดต่อกันเป็นเวลา ๕ ปี ทั้งนี้ เนื่องจากไดรับรายงานจากเจ้าคณะจังหวัดยะลา ว่า ในพื้นที่อำเภอเบตง - ๔ - มีประชาชนชาวไทยมุสลิมอาศัยอยู่โดยรอบ มีประชาชนที่นับถือศาสนาพุทธร้อยละ ๔๘ ส่วนที่เหลือร้อยละ ๕๒ นับถือศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ และศาสนาฮินดู ประกอบกับ แม้ว่าในบางปีมีพระ-ภิกษุเกินจำนวน ๒๐ รูป แต่ต้องส่งพระภิกษุไปจำพรรษาในเขตปกครองเพื่อให้ครบจำนวน ๕ รูป จึงเป็นเหตุที่ไม่สามารถจะมีพระภิกษุอยู่จำพรรษาครบจำนวน ๒๐ รูปติดต่อกัน ๕ ปี ขึ้นไปได้ แต่วัดพุทธาธิวาส ตำบลเบตง อำเภอเบตงนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่ง สมควรได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวง เพื่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวัดที่ตั้งอยู่ชายแดนติดต่อกับประเทศมาเลเซีย ๒.๕ เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และสังคม คือ วัดพุทธาธิวาส เป็นวัดที่ติดชายแดนไทย-มาเลเซีย ท่ามกลางความหลากหลายของประเพณีและวัฒนธรรมทั้งไทย จีน มลายู นอกจากนี้ยังมีถาวรวัตถุที่สำคัญ คือ พระมหาธาตุเจดีย์พระพุทธธรรมประกาศ ลักษณะรูปทรงสี่เหลี่ยม กว้างด้านละ ๓๙.๙ เมตร สูง ๓๙.๙ เมตร และมีพระพุทธธรรมกายมงคลประยูรเกศานนท์สุพพิธาน เป็น พระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์องค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ขนาดหน้าตักกว้าง ๙.๙๙ เมตร สูง ๑๔.๒๙ เมตร น้ำหนักประมาณ ๔๐ ตัน เป็นสัญลักษณ์ของชาวไทยผู้นับถือศาสนาพุทธ ๒.๖ เป็นวัดที่ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖ ตั้งวัดมาแล้ว ๘๖ ปี ๓. วัดโพธิ์ปฐมาวาส อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ๓.๑ เป็นวัดที่เป็นหลักฐานมีเสนาสนะมั่นคงถาวร คือ - มีที่ดินที่ตั้งวัด ตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๔๖๓ มีเนื้อที่ประมาณ ๗ ไร่ ๓ งาน ๙๘.๙ ตารางวา - มีอุโบสถ ศาลาการเปรียญ และกุฏิ เป็นหลักฐานมั่นคงถาวร ๓.๒ มีการปกครองเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยการบริหารและการปกครองทั้งหมดขึ้นตรงต่อเจ้าอาวาส ซึ่งจัดให้มีเจ้าหน้าที่ดูแลด้านการศึกษาภายในวัดและพระภิกษุสามเณร ดูแลพัฒนาวัด โดยมีกฎระเบียบ และกติกาการปกครองของวัดให้เป็นไปตาม พระธรรมวินัย และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ตลอดถึงกฎมหาเถรสมาคม - ๕ - เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน มีสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบลชั้นเอก มีตำแหน่งทางการปกครองคณะสงฆ์ เป็น เจ้าคณะตำบลบ่อยาง เขต ๓ มีการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรม และบาลี ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๖๔ โดยเป็นสำนักเรียนแผนกบาลีแห่งแรกในจังหวัดสงขลา ๓.๓ เป็นวัดที่มีการพัฒนาและมีกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน คือ ในวันธรรมสวนะและวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา จัดให้มีการเผยแผ่ธรรม ให้มีการลด ละ เลิกอบายมุข โดยมุ่งเน้นไปในทางปฏิบัติธรรมบูชา คือ - จัดอบรมศีลธรรมแก่นักเรียน และออกไปอบรมนอกสถานที่ - จัดตั้งทุน สังฆโสภณมูลนิธิ นำดอกผลไปใช้จ่ายในการส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรม และแผนกบาลี - จัดให้มีการฝึกอบรมวิปัสสนากรรมฐาน โดยเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมของวัด ได้มีการฝึกปฏิบัติติดต่อกันมาโดยตลอด เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จ-พระเจ้าอยู่หัว ๓.๔ มีพระภิกษุอยู่จำพรรษาในระยะห้าปี ไม่น้อยกว่า ๒๐ รูป ๓.๕ เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และสังคม คือ วัดโพธิ์ปฐมาวาส เป็นวัดเก่าแก่ที่สุดในเมืองสงขลา สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. ๒๒๐๐ เป็นวัดเก่าที่สร้างมานานเป็นเวลา ๓๔๖ ปี ก่อนสร้างเมืองสงขลา มีพระ-พุทธรูปปางตรัสรู้ สร้างโดยการก่ออิฐถือปูน ขนาดหน้าตักกว้าง ๒.๔๐ เมตร สูง ๔.๓๐ เมตร เป็นศิลปะสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระบรมธาตุบรรจุในผอบทองคำ ประดิษฐานภายในบุษย-สัมฤทธิ์ บรรจุอยู่ภายในพระเจดีย์องค์ประธาน ซึ่งกรมศิลปากรสันนิษฐานว่า สร้างในสมัยกรุง- รัตนโกสินทร์ตอนต้น ฝาผนังโบสถ์เป็นภาพจิตรกรรมที่มีคุณค่าทางด้านศิลปะ และสะท้อนถึงแนวคิดที่มีลักษณะเฉพาะตัวของจิตรกรชาวสงขลา และเป็นภาพจิตรกรรมที่หาดูได้ยาก ซุ้มประตูภายในวัดลักษณะเป็นศิลปะทรงจีนสัญลักษณ์ประจำวัด คือ ต้นโพธิ์ ๓.๖ เป็นวัดที่ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๒๐๐ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. ๒๒๑๐ ตั้งวัดมาแล้ว ๓๔๖ ปี สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติพิจารณาแล้วเห็นว่า วัดทั้ง ๓ วัด ได้ปฏิบัติถูกต้องตามระเบียบสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๑๘ ว่าด้วยการยกวัดราษฎร์ขึ้นเป็น - ๖ - พระอารามหลวง พ.ศ. ๒๕๑๘ และได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการพิจารณาเรื่องการขอยกวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวงแล้ว จึงเห็นควรนำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อโปรดพิจารณาให้ความเห็นชอบ พร้อมทั้งกำหนดชั้นและชนิดของพระอารามหลวงต่อไป ที่ประชุมพิจารณาแล้วลงมติให้ยก ๑. วัดบุณยประดิษฐ์ เขตบางแค กรุงทพมหานคร ๒. วัดพุทธาธิวาส อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ๓. วัดโพธิ์ปฐมาวาส อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ (นายสุทธิวงศ์ ตันตยาพิศาลสุทธิ์) เลขาธิการมหาเถรสมาคม
เอกสารประกอบเพิ่มเติม
เอกสารประกอบ 1 : CCF00192551_00574.pdf (250.57 kb)
จำนวนเข้าดู : 1545
ปรับปรุงล่าสุด : 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 08:00:00
ข้อมูลเมื่อ : 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 08:00:00