มติมหาเถรสมาคม
ครั้งที่ 29/2562
มติที่ 682/2562
เรื่อง การจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษาในโรงเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
ในการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๒๙/๒๕๖๒ เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๖๒ เลขาธิการมหาเถรสมาคมเสนอว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ได้มีหนังสือ ด่วนมาก ที่ ศธ ๐๔๐๑๐/๔๒๑๑ ลงวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ แจ้งว่า กรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูล ในโซเชียลมีเดียโดยระบุว่า กระทรวงศึกษาธิการได้ปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้นักเรียนที่นับถือพระพุทธศาสนาต้องเรียนวิชาอิสลามศึกษา ซึ่งเป็นการเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือนไม่ถูกต้อง สร้างความสับสนและความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน ก่อให้เกิดความแตกแยก และอาจส่งผลกระทบต่อความในคงของชาตินั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ขอให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาตินำคำชี้แจงข้อเท็จจริงจากกรณีดังกล่าวเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อโปรดทราบ ดังนี้ ๑. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีหนังสือถึงสำนักงานเขตพื้นที่-การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษาทุกเขต เพื่อสำรวจข้อมูลโรงเรียนที่เปิดสอนอิสลามศึกษา เป็นข้อมูลประกอบการจัดสรรงบประมาณ โดยมิได้มีเจตนาให้ทุกโรงเรียนหรือนักเรียนต้องเรียนอิสลามศึกษาแต่อย่างใด ๒. การจัดการเรียนการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม สาระที่ ๑ ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ ได้กำหนดมาตรฐานการเรียนรู้ และตัวชี้วัดเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดการเรียนการสอนแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา และเรียนรู้เกี่ยวกับศาสนาอื่นในลักษณะศาสนสัมพันธ์ เพื่อการ อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ในกรณีหลักสูตรอิสลามศึกษา ผู้เรียนได้เรียนรายวิชาพื้นฐาน (วิชาบังคับ) เช่นเดียวกับนักเรียนทั่วไป ใน ๘ กลุ่มสาระการเรียนรู้ ยกเว้นสาระที่ ๑ ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม ที่ได้ปรับมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดเพื่อให้สอดคล้องกับหลักศาสนาอิสลาม ส่วนรายวิชาเพิ่มเติม (วิชาเลือก) สถานศึกษาทุกแห่งมีอิสระที่จะเปิดสอนตามจุดเน้นของสถานศึกษา - ๒ - ๓. กรณีหนังสือเรียนภาษาไทยที่มีภาพประกอบเป็นการแต่งกายตามแบบวัฒนธรรมของศาสนาอิสลาม สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ศึกษาข้อมูลตามหลักวิชาการ งานวิจัย และรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ โดยเป็นการนำเสนอเนื้อหาในหนังสือ ที่ได้เรียบเรียงขึ้นเพื่อให้น่าสนใจ และมีความหลากหลายในแต่ละพื้นที่ของประเทศโดยมุ่งเน้นถึง วัฒนธรรมทางภาษา ให้เกิดการยอมรับซึ่งกันและกันในสังคมไทย ซึ่งเป็นสังคม พหุวัฒนธรรม บนฐานความแตกต่างซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการอยู่ร่วมกันในสังคม ทั้งระดับประเทศ ภูมิภาค และโลก ซึ่งในประเด็นนี้ก็เป็น ที่ยอมรับกันในระดับสากล ดังที่ยูเนสโก (UNESCO) ได้ระบุและให้ความสำคัญกับเป้าหมายของพลเมือง ที่เรียกว่า Living Values ซึ่งหมายถึง คุณค่าที่ทำให้คนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขมากที่สุด โดยคุณค่า ที่สำคัญคือการเคารพซึ่งกันและกัน ที่ประชุมรับทราบ
เอกสารประกอบเพิ่มเติม
เอกสารประกอบ 1 : c29091262_682 การจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษา.pdf (727.04 kb)
จำนวนเข้าดู : 2638
ปรับปรุงล่าสุด : 4 มีนาคม พ.ศ. 2563 14:31:40
ข้อมูลเมื่อ : 25 ธันวาคม พ.ศ. 2562 09:01:50