มติมหาเถรสมาคม
ครั้งที่ 06/2563
มติที่ 138/2563
เรื่อง การพ้นจากความเป็นพระภิกษุ กรณีต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา
ในการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๖/๒๕๖๓ เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ เลขาธิการมหาเถรสมาคมเสนอว่า จากกรณีที่มี พระภิกษุถูกจับกุม ต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา เป็นที่ถกเถียงกันในหมู่ชาวพุทธเกี่ยวกับพระภิกษุที่ถูกจับกุมว่า เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการให้พระภิกษุสละสมณเพศ โดยไม่ได้เปล่งวาจา จะถือว่าพ้นจากความเป็นพระภิกษุหรือไม่ และกรณีที่พระภิกษุรูปนั้นได้รับการประกันตัวออกมา หรือพ้นโทษออกมาจะกลับมานุ่งห่มจีวรโดยไม่ต้องอุปสมบทใหม่ได้หรือไม่ ซึ่งประเด็นดังกล่าวได้เผยแพร่ออกไปผ่านสื่อ ในหลายช่องทางอย่างกว้างขวาง โดยก่อให้เกิดความสับสนแก่ชาวพุทธและมีผู้แสดงทัศนะกันต่าง ๆ นานา อันจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียกระทบต่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนา จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องดังกล่าวแก่คณะสงฆ์และสังคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้นำบทบัญญัติที่ตราไว้ในมาตรา ๒๘ มาตรา ๒๙ และมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ มาชี้แจง ดังนี้ ๑. พระภิกษุรูปใดต้องคำพิพากษาถึงที่สุด ให้เป็นบุคคลล้มละลาย ต้องสึกภายในสามวันนับแต่วันคดีถึงที่สุด ๒. พระภิกษุรูปใดถูกจับโดยต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา เมื่อพนักงานสอบสวนหรือ พนักงานอัยการไม่เห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราว และเจ้าอาวาสแห่งวัดที่พระภิกษุรูปนั้นสังกัดไม่รับมอบตัวไว้ควบคุม หรือพนักงานสอบสวนไม่เห็นสมควรให้ เจ้าอาวาสรับตัวไปควบคุม หรือพระภิกษุรูปนั้นมิได้สังกัดในวัดใดวัดหนึ่ง ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจจัดดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้ ๓. เมื่อจะต้องจำคุก กักขัง หรือขังพระภิกษุรูปใดตามคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลมีอำนาจดำเนินการ ให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้ และให้รายงานให้ศาลทราบถึงการสละสมณเพศนั้น กรณีจำเลยยอมสึกถอดจีวรเพราะถูกจับต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา และเจ้าพนักงานสอบสวนไม่ให้ประกันตัว ต่อมาได้รับการประกันตัว กลับมาแต่งกายเป็นพระภิกษุอีก โดยมิได้อุปสมบทใหม่ จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๐๘ ฐานแต่งกายหรือใช้เครื่องหมายที่แสดงว่าเป็นพระภิกษุ สามเณรโดยมิชอบเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นบุคคลเช่นว่านั้น พระภิกษุที่สละสมณเพศกรณีต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา และศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว จะเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังนี้ ๑. ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกและรับโทษตามคำพิพากษา เมื่อพ้นโทษออกมาสามารถ เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาได้ ๒. ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดและให้รอลงอาญา เมื่อพ้นระยะเวลาการให้รอลงอาญา สามารถเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาได้ เว้นแต่ ๓. ผู้ที่พ้นจากความเป็นพระภิกษุเพราะต้องปาราชิกมาแล้ว ไม่ว่าจะมีคำสั่งวินิจฉัยตามมาตรา ๒๕ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ หรือไม่ก็ตาม จะบรรพชาอุปสมบทอีกไม่ได้ และหากมาเข้ารับการบรรพชาอุปสมบทใหม่โดยกล่าวเท็จ หรือปิดบังความจริงต่อพระอุปัชฌาย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี จากบทบัญญัติที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พระภิกษุต้องปฏิบัติให้ชอบทั้งกฎหมายกับพระธรรมวินัยควบคู่กันไปจะเลือกปฏิบัติให้ชอบเพียงอย่างหนึ่งอย่างใดมิได้ ดั่งปรากฏในพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งได้ทรงนิพนธ์ไว้ ความว่า "ภิกษุสงฆ์ แม้มีพระวินัย เป็นกฎหมายสำหรับตัวอยู่ส่วนหนึ่งแล้ว ก็ยังจะต้องอยู่ในใต้อำนาจแห่งกฎหมายฝ่ายอาณาจักรอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งตราไว้เฉพาะหรือเพื่อคนทั่วไปและยังควรอนุวัตจารีตของบ้านเมือง อันไม่ขัดต่อกฎหมายสองประเภทนั้นอีก"สรุปความ ภิกษุสงฆ์มีกฎหมายอันจะพึงฟังอยู่ ๓ ประเภท คือ กฎหมายแผ่นดิน ๑ พระวินัย ๑ จารีต ๑ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเห็นควรนำเสนอมหาเถรสมาคมเพี่อโปรดทราบ ที่ประชุมรับทราบ
เอกสารประกอบเพิ่มเติม
เอกสารประกอบ 1 : c_06280263_138 การพ้นจากความเป็นพระภิกษุ.pdf (45.32 kb)
จำนวนเข้าดู : 4737
ปรับปรุงล่าสุด : 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 15:59:48
ข้อมูลเมื่อ : 4 มีนาคม พ.ศ. 2563 15:15:16