มติมหาเถรสมาคม
ครั้งที่ 09/2563
มติที่ 192/2563
เรื่อง ขอผู้แทนคณะสงฆ์เป็นที่ปรึกษาการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การทุจริตแห่งชาติ สร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต
ในการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๙/๒๕๖๓ เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๓ เลขาธิการมหาเถรสมาคมเสนอว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีหนังสือ ที่ ปช ๐๐๑๒/๐๐๑๑ ลงวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๓ แจ้งว่า ยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและการปราบปรามการทุจริต ระยะที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๖๔) ได้กำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ที่ ๑ สร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต ประกอบด้วย กลยุทธ์ที่ ๑ ปรับฐานความคิดทุกช่วงวัยตั้งแต่ปฐมวัยเป็นต้นไป ให้สามารถแยกแยะระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวม กลยุทธ์ที่ ๒ ส่งเสริมมีระบบและกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมเพื่อต้านทุจริต กลยุทธ์ที่ ๓ ประยุกต์หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเครื่องมือต้านทุจริต กลยุทธ์ที่ ๔ เสริมพลังการมีส่วนร่วมของชุมชนและบูรณาการทุกภาคส่วนเพื่อการต่อต้านทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช. ได้จัดทำหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา : Anti-Corruption Education ซึ่งประกอบด้วย ๕ หลักสูตร ดังนี้ ๑. หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รายวิชาเพิ่มเติม การป้องกันการทุจริต) ๒. หลักสูตรอุดมศึกษา (วัยใสใจสะอาด Youngster with Good Heart) ๓. หลักสูตรตามแนวทางรับราชการทางกลุ่มทหารและตำรวจ ๔. หลักสูตรสร้างวิทยากรผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต ๕. หลักสูตรโค้ชเพื่อการรู้คิดต้านทุจริต เพื่อการเปลี่ยนแปลงวิธีคิด (Paradigm Shift) ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งและสอดคล้องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๕๐ ที่ได้บัญญัติให้เป็นหน้าที่ปวงชนชาวไทยจะต้องไม่ร่วมมือหรือสนับสนุนการทุจริตและประพฤติมิชอบทุกรูปแบบ และในมาตรา ๖๓ บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของรัฐต้องส่งเสริมสนับสนุนและให้ความรู้แก่ประชาชน ถึงอันตราย ที่เกิดขึ้นจากการทุจริตและประพฤติมิชอบดังกล่าวอย่างเข้มงวด รวมทั้งกลไกในการส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้าน หรือชี้เบาะแสโดยได้รับความคุ้มครองจากรัฐ ที่กฎหมายกำบัญญัติ และสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ดำเนินการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต ในระยะที่ ๓ โดยการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐ มีส่วนร่วม ในการป้องกันและปราบปรามทุจริต อาศัยกลไกศาสนาพุทธประยุกต์หลักธรรมคำสอนกับหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา : Anti-Corruption Education เผยแพร่ให้กับพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศเพื่อรวมพลังคนไทย สร้างสังคมสุจริตให้กับบ้านเมืองและประเทศไทย ในการนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ขอให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาตินำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อขอความเมตตาพิจารณาอนุญาตให้องค์กรปกครองคณะสงฆ์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) และพระสงฆ์ ดำเนินการดังนี้ ๑. ส่งเสริม สนับสนุน และร่วมดำเนินการประยุกต์หลักธรรมคำสอน กับหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา : Anti-Coruption Education เผยแพร่ให้พุทธศาสนิกชน ให้เกิด บวร บ้าน วัดและโรงเรียนขับเคลื่อนพลังแห่งความดีร่วมกันและอย่างพร้อมเพรียงกัน เพื่อให้เกิดการรวมพลังสร้างสังคมสุจริตให้กับบ้านเมือง การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของสังคมไทยให้เป็นสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต เป็นพลเมืองที่ดี มีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยมีจิตสำนึกร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม และเข้ามามี ส่วนร่วมในการพัฒนาด้านต่าง ๆ ของท้องถิ่นและประเทศไทยโดยรวม ๒. ให้ความร่วมมือกับสำนักงาน ป.ป.ช. ในการดำเนินการโครงการนำร่อง โครงการ บูรณาการ แนวทางความร่วมมือทางศาสนาในการต่อต้านการทุจริต โดยการประยุกต์หลักธรรมคำสอนกับหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา : Anti-Coruption Education เผยแพร่ให้กับพุทธศาสนิกชน ตามหลักการ บวร ใน ๑ ส่วนกลาง และ ๙ ภาค โดยมีมติมอบหมายให้พระสงฆ์ ภาคละ ๒ รูป รวมจำนวน ๒๐ รูป ร่วมประสานดำเนินการ ๓. มีมติอนุญาตให้สำนักงาน ป.ป.ช. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการคณะหนึ่งเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ ๓ สร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต ประกอบด้วย ๓.๑ พระภิกษุสงฆ์ จำนวน ๓ รูป ที่มหาเถรสมาคมมอบหมาย เป็นที่ปรึกษา ๓.๒ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หรือผู้แทน เป็นที่ปรึกษา ๓.๓ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย หรือผู้แทน เป็นที่ปรึกษา โดยให้มีหน้าที่และอำนาจ ดังนี้ ๑. ส่งเสริม สนับสนุน และร่วมดำเนินการประยุกต์หลักธรรมคำสอนกับหลักสูตร ต้านทุจริตศึกษา : Anti-Coruption Education เผยแพร่ให้กับพุทธศาสนิกชน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนพลังแห่งความดีร่วมกันและอย่างพร้อมเพรียงกันระหว่างบ้าน วัด และโรงเรียน (บวร) ๒. ประสาน ดำเนินการ หรือเสนอแนะแนวทางการส่งเสริมสร้างความร่วมมือให้ทุกภาคส่วน ทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันการทุจริต ๓. จัดทำโครงการ/กิจกรรมที่สนับสนุนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ๔. การติดตาม ประเมินผล และแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยใช้กลไลทางศาสนาพุทธ รวมทั้งดำเนินการอื่นใด ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมาย สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเห็นควรนำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อโปรดพิจารณา ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบตามที่เสนอ และมอบ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กรรมการมหาเถรสมาคม วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร พระพรหมบัณฑิต กรรมการมหาเถรสมาคม วัดประยุรวงศาวาส กรุงเทพมหานคร และพระพรหมเสนาบดี กรรมการมหาเถรสมาคม วัดปทุมคงคา กรุงเทพมหานคร เป็นที่ปรึกษา และให้ดำเนินการได้ทันที โดยไม่ต้องรอรับรองรายงานการประชุม
เอกสารประกอบเพิ่มเติม
เอกสารประกอบ 1 : c_09120563_192 ขอผู้แทนสงฆ์เป็นที่ปรึกษาขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ต้านทุจริต.pdf (1.21 mb)
จำนวนเข้าดู : 1343
ปรับปรุงล่าสุด : 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 09:54:36
ข้อมูลเมื่อ : 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 09:54:36