มหาเถรสมาคมกับการปกครองคณะสงฆ์
พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2561 มาตรา ๒๐ กำหนดให้คณะสงฆ์ต้องอยู่ภายใต้การปกครองของมหาเถรสมาคม และการจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม ซึ่งในมาตรา ๒๐/๑ ได้กำหนดให้มีเจ้าคณะใหญ่ ปฏิบัติหน้าที่ในเขตปกครองคณะสงฆ์ โดยกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 23 (พ.ศ. 2541) ว่าด้วยระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ ข้อ 6 ได้กำหนดเขตปกครองคณะสงฆ์ของเจ้าคณะใหญ่ ดังนี้
1) เจ้าคณะใหญ่หนกลาง : ปกครองคณะสงฆ์ ภาค 1, 2, 3, 13, 14 และ 15
2) เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ : ปกครองคณะสงฆ์ ภาค 4, 5, 6 และ 7
3) เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก : ปกครองคณะสงฆ์ ภาค 8, 9, 10, 11 และ 12
4) เจ้าคณะใหญ่หนใต้ : ปกครองคณะสงฆ์ ภาค 16, 17 และ 18
5) เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต : ปกครองคณะสงฆ์ธรรมยุตทุกภาค
ทั้งนี้ มาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ
คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2561 ได้กำหนดการปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค ให้จัดแบ่งเขตปกครองเป็น
(๑) ภาค (๒) จังหวัด (๓) อำเภอ และ (๔) ตำบล และมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้กำหนดให้มีพระภิกษุเป็นผู้ปกครองตามชั้นตามลำดับ ดังต่อไปนี้ ๑) เจ้าคณะภาค ๒) เจ้าคณะจังหวัด ๓) เจ้าคณะอำเภอ ๔) เจ้าคณะตำบล โดยในทางปฏิบัติ เมื่อมหาเถรสมาคม ได้มีการประชุมและได้มีมติหรือคำสั่งใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารกิจการคณะสงฆ์แล้ว สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในฐานะสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม จะแจ้งนำถวายมติหรือคำสั่งต่างๆ ไปยังเจ้าคณะใหญ่ เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เพื่อทราบและพิจารณาแจ้งผู้ที่อยู่ในปกครองทราบและถือปฏิบัติ พร้อมนี้ ยังได้แจ้งจังหวัดหรือสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนั้นๆ เพื่อประสานงานและรับสนองงานคณะสงฆ์อีกทางหนึ่งด้วย
ปรับปรุงล่าสุด : 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 09:31:25
ข้อมูลเมื่อ : 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 19:24:28