เกี่ยวกับมหาเถรสมาคม
มหาเถรสมาคม เป็นองค์กรบริหารกิจการพระพุทธศาสนาสูงสุดของประเทศไทย คำว่า "มหาเถรสมาคม" ได้เริ่มต้นใช้เป็นครั้งแรก เมื่อมีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๕) ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งในเวลานั้นไม่มีสมเด็จพระสังฆราช (สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 9 สิ้นพระชนม์ในปี 2443 ต่อมาในปี 2453 จึงได้มีการสถาปนา สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศ ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 10) มีแต่เจ้าคณะใหญ่ 4 รูป และเจ้าคณะรอง 4 รูป โดยคณะใหญ่ทั้ง 4 คือ คณะเหนือ คณะใต้ คณะธรรมยุติกา และคณะกลาง มิได้ขึ้นแก่กัน โดยมีเสนาบดีกระทรวงธรรมการ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการให้เจ้าคณะรูปที่สมณศักดิ์สูงเป็นผู้นำในการประชุม ทั้งนี้ ความปรากฏในพระราชบัญญัติลักษณะปกครองสงฆ์ ร.ศ. 121 (พ.ศ. 2445) สรุปความได้ว่า เจ้าคณะใหญ่ และเจ้าคณะรอง รวม 8 ตำแหน่ง เป็นพระมหาเถระที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษาในการพระศาสนาและการปกครองบำรุงสังฆมณฑลทั่วไป โดยจะโปรดให้ประชุมวินิจฉัยในที่มหาเถรสมาคมตั้งแต่ 5 องค์ขึ้นไป คำตัดสินของมหาเถรสมาคมให้เป็นสิทธิ์ขาด ผู้ใดจะอุทธรณ์หรือโต้แย้งไม่ได้
กรรมการมหาเถรสมาคม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗
บันทึกภาพร่วมกันเมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๑
ณ ด้านหน้าพระตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 8 ในยุคนั้น สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (แพ ติสฺสเทโว) วัดสุทัศน์เทพวราราม เป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 12 โดยในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ มหาเถรสมาคมซึ่งมีมาแต่เดิม จึงได้ถูกปรับเปลี่ยนรูปแบบไปตามอำนาจที่กฏหมายได้ให้ไว้ โดยได้กำหนดให้สมเด็จพระสังฆราชทรงเป็น
ผู้บัญชาการคณะสงฆ์ผ่านทาง 1) สังฆสภา โดยจะทรงบัญญัติสังฆาณัติ (เทียบได้กับ พระราชบัญญัติ)
โดยคำแนะนำของสังฆสภา ซึ่งมีสมาชิกประกอบด้วยพระเถระชั้นธรรมขึ้นไป พระคณาจารย์เอก และ
พระเปรียญเอก รวมจำนวนไม่เกิน 45 รูป 2) คณะสังฆมนตรี โดยจะทรงบริหารการคณะสงฆ์ทางสังฆมนตรี
มีสมาชิกประกอบด้วยสังฆนายก 1 รูป และสังฆมนตรีอีกไม่เกิน 9 รูป และ 3) คณะวินัยธร สำหรับวินิจฉัยอธิกรณ์ ซึ่งมีระเบียบเฉพาะที่ถูกกำหนดในสังฆาณัติ
ครั้นในสมัยรัชกาล 9 ในยุคนั้นเป็นยุคของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปลด กิตฺติโสภโณ)
วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 14 ได้มีการกลับมาเรียกองค์กรบริหารกิจการพระพุทธศาสนาสูงสุดของประเทศไทยว่า "มหาเถรสมาคม" อีกครั้ง ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์
พ.ศ. ๒๕๐๕ โดยเจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการให้การดำเนินกิจการคณะสงฆ์จากเดิมที่เคยแบ่งแยกอำนาจเพื่อการถ่วงดุลย์ซึ่งถูกมองว่าเป็นการบั่นทอนประสิทธิภาพแห่งการดำเนินกิจการ เปลี่ยนเป็นการที่สมเด็จพระสังฆราชจะทรงบัญชาการคณะสงฆ์ทางมหาเถรสมาคม ตามอำนาจกฎหมายและพระธรรมวินัย
ภายหลังจากที่ได้มีการตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ต่อมาในยุคของสมเด็จพระพุทธ-โฆษาจารย์ (อยู่ ญาโณทโย) วัดสระเกศ ซึ่งในขณะนั้นเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช (ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 15) ได้มีกรรมการมหาเถรสมาคมชุดแรกเกิดขึ้น และมีการประชุมครั้งแรกในปี 2506 ที่พระอุโบสถวัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยพระมหาเถระ ดังนี้
1. สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (อยู่ ญาโณทโย) วัดสระเกศ ประธานกรรมการ
2. สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (จวน อุฏฐายี) วัดมกุฏกษัตริยาราม กรรมการ
3. สมเด็จพระวันรัต (ปุ่น ปุณฺณสิริ) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรรมการ
4. พระธรรมปัญญาบดี (วน ฐิติญาโณ) วัดอรุณราชวราราม กรรมการ
5. พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (วาสน์ วาสโน) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรรมการ
6. พระสาสนโสภณ (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร กรรมการ
7. พระมหาโพธิวงศาจารย์ (สาลี อินฺทโชโต) วัดอนงคาราม กรรมการ
8. พระมหารัชชมังคลาจารย์ (เทศ นิทฺเทสโก) วัดสัมพันธวงศ์ กรรมการ
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ (วาสน์ วาสโน) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๘
ทรงฉายพระรูปร่วมกับ “กรรมการมหาเถรสมาคม” ณ พระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๒๑
ต่อมาในยุคสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ซึ่งทรงเป็นพุทธมามกะ ทรงเป็น
อัครศาสนูปถัมภก ทรงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา รวมทั้งทรงทำนุบำรุงสังฆมณฑลให้เจริญมั่นคงตามแบบแผนอันเรียบร้อยตลอดมา จึงได้มีการบัญญัติพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2561 เพื่อเป็นการสืบทอดและธำรงรักษาไว้ซึ่งพระราชอำนาจตามโบราณราชประเพณี โดยพระราชบัญญัติฉบับนี้ ได้แก้ไข มาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 เป็นกำหนดให้มหาเถรสมาคม ประกอบด้วย สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการอื่นอีกไม่เกิน 20 รูป ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง อยู่ในตำแหน่งคราวละ 2 ปี โดยมีนายกรัฐมนตรีรับสนองพระบรมราชโองการ และใช้เรื่อยมาจนปัจจุบัน
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20
ทรงฉายพระรูปร่วมกับกรรมการมหาเถรสมาคม ชุดปัจจุบัน (14 ตุลาคม 2562 - ปัจจุบัน)
ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร
ปรับปรุงล่าสุด : 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 09:28:57
ข้อมูลเมื่อ : 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 00:02:16