เกี่ยวกับสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม
ก่อนที่จะเป็น สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม ในยุคปัจจุบันนี้ ย้อนกลับไปเมื่อ ปี พ.ศ. 2445 ในขณะนั้น สยาม มีพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 ซึ่งกำหนดรูปแบบการปกครองคณะสงฆ์แบบมหาเถรสมาคม ที่ประกอบด้วยเจ้าคณะใหญ่ และเจ้าคณะรอง บริการกิจการคณะสงฆ์ โดยมี เจ้ากระทรวงธรรมการ และเจ้าพนักงานผู้ปกครองท้องที่ เป็นฝ่ายที่จะช่วยอุดหนุนการดำเนินการต่างๆ ต่อมาเมื่อมีการตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 ขึ้น มหาเถรสมาคม ได้ถูกปรับเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นสังฆสภา
คณะสังฆมนตรี และคณะวินัยธร ในขณะนั้นกรมการศาสนา ทำหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสังฆสภา และสำนักงานเลขาธิการคณะสังฆมนตรี เรื่อยมา จนกระทั่งได้มีการตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์
พ.ศ. 2505 และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 (ประกอบพระราชกฤษฎีกา แก้ไขบทบัญญัติให้สอดคล้องกับการโอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 พ.ศ. 2545) กฎหมายจึงกำหนดให้ "ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ" เป็น "เลขาธิการมหาเถรสมาคม" โดยตำแหน่ง และให้ "สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ" ทำหน้าที่ "สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม"
จากพัฒนาการของกฎหมายที่ใช้บริหารกิจการพระพุทธศาสนาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2445 เป็นต้นมา
จะเห็นได้ว่าฝ่ายศาสนจักรดำเนินกิจการปกครองสังฆมณฑล โดยมีฝ่ายอาณาจักรคอยสนองงานและสนับสนุนการดำเนินงานเสมอมา ปัจจุบัน กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พ.ศ. 2557 ข้อ 3 ก. (7) กำหนดให้สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม เป็นหน่วยงานราชการบริหารส่วนกลาง ในสังกัดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
ปรับปรุงล่าสุด : 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 09:32:02
ข้อมูลเมื่อ : 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 00:22:08