มติมหาเถรสมาคม
ครั้งที่ 10/2567
มติที่ 313/2567
เรื่อง การตรวจหาเชื้อเอชไอวี (HIV) กรณีบรรพชาอุปสมบทแก่บุคคลทั่วไป
ในการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๑๐/๒๕๖๗ เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๖๗ เลขาธิการมหาเถรสมาคมเสนอว่า ตามที่ ในคราวการประชุมครั้งที่ ๙/๒๕๖๗ มติที่ ๒๙๙/๒๕๖๗ เมื่อวันศุกร์ ที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๖๗ ที่ประชุมมีมติมอบให้ ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษามหาเถรสมาคม พิจารณาข้อกฎหมาย และกฎมหาเถรสมาคมที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับประเด็นการตรวจหาเชื้อเอชไอวี (HIV) กรณีบรรพชาอุปสมบท แก่บุคคลทั่วไป แล้วนำเสนอมหาเถรสมาคมพิจารณา นั้น ในการนี้ ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษามหาเถรสมาคม ได้เสนอข้อพิจารณาต่อมหาเถรสมาคม ดังนี้ ๑. มูลกรณีเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๖ เนื่องจากผู้สมัครเข้าบวชเป็นพระภิกษุในโครงการอุปสมบทหมู่เนื่องในเทศกาลเข้าพรรษา ปี ๒๕๖๖ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ณ วัดปากบ่อ แขวงอ่อนนุช เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร ร้องเรียนไปยังสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมาย แก่ประชาชน สำนักงานอัยการสูงสุดว่า วัดปากบ่อมีมาตรการบังคับให้มีการตรวจหาเชื้อเอชไอวี (HIV) พร้อมกับชี้แจงให้ผู้สมัครเข้าร่วมโครงการทราบว่า คนที่ตรวจพบเชื้อเอชไอวี (HIV) ไม่สามารถเข้ารับการบวชได้ เนื่องจากเป็นโรคติดต่อทางเลือด เป็นโรคอันตรายและไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ซึ่งผู้ร้องเห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นการตีตรา และเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ๒. สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน สำนักงานอัยการสูงสุด จึงมีหนังสือถึงสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สอบถามว่า กฎ ระเบียบ ข้อปฏิบัติ รวมถึงมติมหาเถร-สมาคม ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจหาเชื้อเอชไอวี (HIV) กรณีบรรพชาอุปสมบทแก่บุคคลทั่วไป มีการดำเนินการหรือข้อห้ามหรือไม่ อย่างไร ๓. สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้มีหนังสือเรียนปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอทราบความเห็นเป็นทางการว่า ตามความในข้อ ๑๔ (๖) ของกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๗ (พ.ศ. ๒๕๓๖) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระอุปัชฌาย์ ที่กำหนดว่า พระอุปัชฌาย์ต้องงดเว้นการให้บรรพชาอุปสมบทแก่คนมีโรคติดต่อเป็นที่น่ารังเกียจ เช่น วัณโรคในระยะอันตราย สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติขอหารือ มีโรคชนิดใดบ้างที่เข้าข่ายโรคติดต่อเป็นที่น่ารังเกียจ และโรคติดเชื้อเอชไอวี (HIV) เข้าข่ายหรือไม่ อย่างไร ๔. กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความเห็นว่า กระทรวงสาธารณสุขเองไม่เคยระบุถึง โรคที่เข้าข่ายโรคติดต่อเป็นที่น่ารังเกียจ คงมีแต่เพียงการระบุเรื่องโรคติดต่ออันตรายไว้ในพระราชบัญญัติ-โรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๕๘ มาตรา ๔ ความว่า โรคติดต่ออันตราย หมายความว่า โรคติดต่อที่มีความรุนแรงสูงและสามารถแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็ว ๕. นอกจากนั้นกระทรวงสาธารณสุขยังให้ข้อมูลด้วยว่า แพทยสภาในการประชุมครั้งที่ ๔/๒๕๖๑ เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๖๑ ได้กำหนดแนวทางเรื่องการรับรองสุขภาพสำหรับการสมัครงานหรือสมัครเข้าศึกษาของบุคคลที่ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยด้านสุขภาพว่า ผู้เข้ารับการตรวจที่ไม่เป็นผู้มีร่างกายทุพพลภาพจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ไม่ปรากฏอาการโรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือนหรือปัญญาอ่อน ไม่ปรากฏอาการติดยาเสพติดให้โทษและอาการโรคพิษสุราเรื้อรัง กับทั้ง ไม่ปรากฏอาการของโรคสามประการ คือ ๑) โรคเรื้อนในระยะติดต่อหรือในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม ๒) วัณโรคในระยะอันตราย และ ๓) โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม แพทย์ผู้ตรวจสามารถรับรองได้ว่า ผู้เข้ารับการตรวจไม่มีอุปสรรคต่อการทำงานหรือการเรียน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีความเห็นว่า แนวทางการรับรองสุขภาพดังกล่าว สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางรับรองสุขภาพของผู้ต้องการบวช เป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาได้ ๖. อนึ่ง กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า การติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ไม่ใช่โรค เป็นแต่เพียงการได้รับเชื้อดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายแต่ร่างกายยังแข็งแรงและสามารถทำงานได้ ส่วนโรคเอดส์ (AIDS) ซึ่งมีอาการสำคัญคือมีภาวะภูมิคุ้มกันของร่างกายบกพร่องจนไม่สามารถต่อสู้เชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ที่เข้าสู่ร่างกาย ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ง่ายกว่าคนปกติ เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ดังนั้น การติดเชื้อเอชไอวี (HIV) จึงไม่เข้าข่ายโรคติดต่อเป็นที่น่ารังเกียจ ๗. สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยสำนักงานเลขาธิการมหาเถรสมาคม เสนอ ที่ประชุมมหาเถรสมาคม ในการประชุมเมื่อวันศุกร์ที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๖๗ ว่า โรคอันตรายห้าประการที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติวินัยห้ามบวช ได้แก่ โรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคมองคร่อ และโรคลมบ้าหมู ๘. พร้อมกันนั้นสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเสนอความเห็นเพิ่มเติมว่า กฎมหาเถรสมาคม ที่ห้ามมิให้พระอุปัชฌาย์บรรพชาอุปสมบทแก่ คนที่มีโรคติดต่อเป็นที่น่ารังเกียจ เช่น วัณโรค ในระยะอันตราย เป็นการกำหนดลักษณะต้องห้ามไว้อย่างกว้าง ไม่ชัดเจน ทำให้พระอุปัชฌาย์ต้องใช้ดุลพินิจในการตีความข้อกำหนดดังกล่าวข้างต้น ซึ่งอาจไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทำให้ผู้ขอบรรพชาอุปสมบทอาจไม่ได้รับความเป็นธรรม (ถูกจำกัดสิทธิ) ๙. นอกจากข้อมูลและความเห็นจากกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ข้างต้นแล้ว ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษามหาเถรสมาคมมีความเห็นในประเด็นทางกฎหมายเพิ่มเติมว่า ผู้ทำหน้าที่เป็นพระอุปัชฌาย์ นอกจากต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามพระธรรมวินัยแล้ว ยังต้องเป็นผู้ได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่สำคัญนี้ตามกฎมหาเถรสมาคม ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระอุปัชฌาย์ ซึ่งออกตามความในตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ด้วย การปฏิบัติหน้าที่พระอุปัชฌาย์ตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับดังกล่าว ข้อ ๒๘ ได้กำหนดจริยาของพระอุปัชฌาย์ว่า ต้องเอื้อเฟื้อ สังวร ประพฤติ ตามพระธรรมวินัยและกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นแบบอย่างอันดีของสัทธิวิหาริก ประกอบกับ โดยที่การบังคับให้ผู้หนึ่งผู้ใดต้องตรวจหาเชื้อเอชไอวี (HIV) เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลโดยตรง ผู้สั่งการเช่นว่านั้น อาจถูกฟ้องเป็นคดีปกครอง หรือคดีละเมิดได้ จึงมีความเห็นว่า การกระทำดังกล่าว ไม่อาจดำเนินการได้ตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม กฎมหาเถรสมาคมฉบับดังกล่าว ข้อ ๑๓ ได้กำหนดให้พระอุปัชฌาย์มีหน้าที่และอำนาจในการคัดกรองกุลบุตรผู้ขอบรรพชาอุปสมบท เช่น ต้องเป็นสุภาพชน มีความประพฤติดีประพฤติชอบไม่มีความประพฤติเสียหาย มีอาชีพชอบธรรม มีความรู้อ่านออกเขียนได้ ไม่เป็นผู้มีทิฏฐิวิบัติ กล่าวคำขอบรรพชาอุปสมบทได้ เป็นต้น การพิจารณาในเรื่องนี้จึงไม่กระทบกระเทือนต่อหน้าที่และอำนาจของพระอุปัชฌาย์ที่จะพิจารณาความเหมาะสมโดยองค์รวมในการรับกุลบุตรเข้ามาบรรพชาอุปสมบท ในพระพุทธศาสนา ตลอดจนหน้าที่และอำนาจของเจ้าอาวาสที่ี่ต้องปกครองให้พระภิกษุและสามเณรอยู่ในโอวาท สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเห็นควรนำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อโปรดทราบ ที่ประชุมรับทราบความเห็นของกระทรวงสาธารณสุขตามรายงานของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติว่า การติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ไม่ใช่โรค จึงไม่เข้าข่ายโรคติดต่อเป็นที่น่ารังเกียจตามกฎ- มหาเถรสมาคมที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับความเห็นของ ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษามหาเถรสมาคม ว่า การบังคับให้ผู้หนึ่งผู้ใดต้องตรวจหาเชื้อเอชไอวี (HIV) ไม่อาจกระทำได้ตามกฎหมาย อนึ่ง มตินี้ไม่กระทบกระเทือนต่อหน้าที่และอำนาจของพระอุปัชฌาย์และเจ้าอาวาสที่จะคัดกรองกุลบุตร และปกครองพระภิกษุสามเณรในสังกัด และมอบสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แจ้งเจ้าคณะใหญ่ ทราบ และแจ้งพระอุปัชฌาย์ ถือปฏิบัติตามมติมหาเถรสมาคม
เอกสารประกอบเพิ่มเติม
เอกสารประกอบ 1 : 1010042567_313 การตรวจหาเชื้อเอชไอวี (HIV) กรณีบรรพชาอุปสมบทแก่บุคคลทั่วไป.pdf (2.55 mb)
จำนวนเข้าดู : 4146
ปรับปรุงล่าสุด : 23 เมษายน พ.ศ. 2567 13:09:04
ข้อมูลเมื่อ : 22 เมษายน พ.ศ. 2567 09:59:44