มติมหาเถรสมาคม
ครั้งที่ 15/2545
มติที่ 226/2545
เรื่อง ปัญหาพระธุดงค์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
มติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๑๕/๒๕๔๕ สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม มติที่ . เรื่อง ปัญหาพระธุดงค์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ในการประชุมมหาเถรสมาคมครั้งที่ ๑๕/๒๕๔๕ เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๔๕ เลขาธิการมหาเถรสมาคมเสนอว่า ในการประชุมมหาเถรสมาคมครั้งที่ ๑๑/๒๕๔๕ เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๔๕ กรมการศาสนาได้นำเรื่องปัญหาพระธุดงค์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ตามที่กรมป่าไม้ได้มีหนังสือที่ กษ ๐๗๑๒.๘/๘๑๘๓ ลงวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๔๕ แจ้งว่า ปัจจุบันมีพระภิกษุสงฆ์นิยมเข้าไปเดินธุดงค์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ทั้งที่ได้รับอนุญาตและไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ การเข้าไปเดินธุดงค์ของกลุ่มพระสงฆ์ดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดผลกระทบโดยตรงกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหลายประการ ดังนี้ ๑. ปัญหาไฟป่า ซึ่งเกิดจากพระสงฆ์บางกลุ่มก่อไฟหุงอาหารแล้วไม่ดับไฟ ให้หมด จึงเป็นสาเหตุให้เกิดไฟป่าได้ง่าย โดยเฉพาะในฤดูแล้ง ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ยาก แก่การดับ เนื่องจากอยู่กลางป่าลึก ๒. ปัญหามลพิษจากขยะของเสีย อันเกิดจากเศษอาหารและขยะที่เหลือจากการประกอบอาหารและการบริโภค ซึ่งถูกทิ้งไว้เกลื่อนกลาดในป่าจะส่งกลิ่นเน่าเหม็น และขยะบางประเภท เช่น ถุงพลาสติคที่ใส่อาหาร อาจเป็นอันตรายต่อสัตว์ป่าที่เข้ามาหาเศษอาหารกิน - ๒ - ๓. ปัญหารบกวนความเป็นอยู่ของสัตว์ป่า โดยปกติสัตว์ป่าจะออกมาหากินตามลำห้วยหรือโป่ง เมื่อถูกรบกวนจากคนก็จะอพยพไปอยู่ที่อื่น สัตว์ป่าบางชนิด เช่น นกยูงมีพฤติกรรมชอบผสมพันธุ์ในที่โล่งบนหาดทรายริมห้วยขาแข้งในช่วงฤดูหนาว เมื่อมีพระสงฆ์เดินผ่านในพื้นที่ดังกล่าวนกยูงก็จะหนีไป จึงเป็นสาเหตุให้ปริมาณนกยูงลดลงได้ในอนาคต ๔. ปัญหาการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมาย ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเพิ่มความลำบากมากขึ้นโดยพวกมิจฉาชีพ เช่น พรานล่าสัตว์ป่า หรือพวกค้ายาเสพติดจะอาศัยช่องทางปลอมแปลงเป็นพระสงฆ์เข้าไปล่าสัตว์ป่า หรือใช้เส้นทางในการลำเลียงขนส่งยาเสพติดหรือของผิดกฎหมายอื่น ๆ กรมป่าไม้ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าปัญหาพระธุดงค์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเป็นปัญหาละเอียดอ่อน ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อมิให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อศาสนา ดังนั้น จึงสมควรแก้ไขในเบื้องต้น คือ หากมีพระสงฆ์จะเข้าไปปฏิบัติธุดงควัตรในเขตพื้นที่ป่า ก่อนขออนุญาตกรมป่าไม้ควรได้รับความเห็นชอบจากวัดต้นสังกัด และผ่านการพิจารณาตรวจสอบจากกรมการศาสนา ตามหลักเกณฑ์ ดังนี้ ๑. พื้นที่ที่พระสงฆ์จะขอเข้าไปเดินธุดงค์ได้ต้องมีความปลอดภัย และไม่เป็น ที่อยู่อาศัยอย่างชุกชุมของสัตว์ป่า ๒. จำนวนพระสงฆ์และผู้ติดตามคณะหนึ่ง ๆ ไม่ควรเกิน ๕ รูป และ ๕ คน เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ป่าไม้น้อยที่สุด ๓. การเข้าไปปฏิบัติธุดงควัตรของพระสงฆ์ควรมีระยะเวลาจำกัด และกำหนดบริเวณสถานที่สำหรับปฏิบัติศาสนกิจให้แน่นอน ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกในการดูแลของพนักงานเจ้าหน้าที่ ๔. การเข้าไปในพื้นที่ป่าไม้ ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบกรมป่าไม้ที่บังคับใช้ในพื้นที่นั้น ๆ อย่างเคร่งครัด - ๓ - ถวายที่ประชุมเพื่อโปรดพิจารณา ซึ่งที่ประชุมพิจารณาแล้วลงมติให้กรมการศาสนาประมวลระเบียบ คำสั่ง ของมหาเถรสมาคม เป็นต้น ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ แล้วนำเสนอมหาเถรสมาคมอีกครั้งหนึ่ง นั้น บัดนี้ กรมการศาสนาได้ตรวจสอบแล้ว ปรากฏว่า มหาเถรสมาคมได้เคยมีมติเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้แล้ว ในการประชุมมหาเถรสมาคมครั้งที่ ๒/๒๕๑๑ เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๑ ดังนี้ ๑. ให้พระภิกษุสามเณรที่ออกธุดงค์จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าอาวาสก่อนแล้วไปขอหนังสือรับรองจากเจ้าคณะจังหวัดที่สังกัดอยู่ ๒. ให้เจ้าคณะจังหวัดพิจารณา ถ้าเห็นสมควรก็ให้ออกหนังสือรับรองให้ ๓. เมื่อพบพระภิกษุสามเณรธุดงค์ไปถึงจังหวัดใด อำเภอใด เมื่อเจ้าคณะหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองขอตรวจ ให้แสดงหนังสือสุทธิและหนังสือรับรองเป็นหลักฐาน ๔. ถ้าพระภิกษุสามเณรที่ออกธุดงค์ไม่มีหนังสือสุทธิ หรือหนังสือรับรอง ของเจ้าคณะจังหวัด ห้ามมิให้ออกธุดงค์ จึงขอประทานเสนอที่ประชุมเพื่อโปรดพิจารณา หากเห็นชอบ กรมการศาสนาจะได้ยืนยันมติมหาเถรสมาคมเกี่ยวกับเรื่องนี้ ตามมติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๒/๒๕๑๑ เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๑ เพื่อแจ้งให้เจ้าคณะพระสังฆาธิการทราบและปฏิบัติตามมติมหาเถรสมาคมต่อไป ที่ประชุมพิจารณาแล้วลงมติให้ปฏิบัติตามมติมหาเถรสมาคมครั้งที่ ๒/๒๕๑๑ เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๑ โดยเคร่งครัด ดังนี้ ๑. ให้พระภิกษุสามเณรที่ออกธุดงค์จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าอาวาสก่อนแล้วไปขอหนังสือรับรองจากเจ้าคณะจังหวัดที่สังกัดอยู่ ๒. ให้เจ้าคณะจังหวัดพิจารณา ถ้าเห็นสมควรก็ให้ออกหนังสือรับรองให้ ๓. เมื่อพบพระภิกษุสามเณรธุดงค์ไปถึงจังหวัดใด อำเภอใด เมื่อเจ้าคณะหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองขอตรวจ ให้แสดงหนังสือสุทธิและหนังสือรับรองเป็นหลักฐาน - ๔ - ๔. ถ้าพระภิกษุสามเณรที่ออกธุดงค์ไม่มีหนังสือสุทธิ และหนังสือรับรองของ เจ้าคณะจังหวัด ห้ามมิให้ออกธุดงค์ อนึ่ง หากเข้าไปธุดงค์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ต้องได้รับอนุญาตจาก กรมป่าไม้ก่อน และให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ ให้กรมการศาสนาแจ้งเจ้าคณะจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อแจ้งวัดในเขตปกครองทุกวัด ได้ทราบและปฏิบัติตามมติมหาเถรสมาคมโดยทั่วกัน
เอกสารประกอบเพิ่มเติม
เอกสารประกอบ 1 : CCF02982551_00229.pdf (151.05 kb)
จำนวนเข้าดู : 3470
ปรับปรุงล่าสุด : 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 08:00:00
ข้อมูลเมื่อ : 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 08:00:00