มติมหาเถรสมาคม
ครั้งที่ 15/2545
มติที่ 224/2545
เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. .
มติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๑๕/๒๕๔๕ สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม มติที่ เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. . ในการประชุมมหาเถรสมาคมครั้งที่ ๑๕/๒๕๔๕ เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๔๕ เลขาธิการมหาเถรสมาคมเสนอว่า กรมการศาสนาได้รับแจ้ง เรื่อง ร่างพระราช-บัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. . จากกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งได้รับแจ้งจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนมาก ที่ นร ๐๒๐๔/ว (ล) ๕๔๔๙ ลงวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๔๕ ความว่า ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๔๕ คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นว่า มูลเหตุของการที่ต้องปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์นั้น นอกจากความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขฉบับนี้ที่ใช้มานานแล้วให้เหมาะแก่กาลสมัย เช่นเดียวกับการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายฉบับอื่น ๆ ยังเนื่องจากความต้องการเร่งด่วนที่จะแก้ข้อขัดข้องอันเกิดจากพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ ในส่วนที่ให้มีสภาการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ซึ่งมีอำนาจหน้าที่พิจารณาเสนอนโยบายและแผนพัฒนาด้านศาสนา การดำเนินการด้านศาสนา การสนับสนุนทรัพยากร การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล การดำเนินการด้านศาสนา โดยเกรงกันว่าอำนาจหน้าที่ขององค์กรดังกล่าวอาจกระทบต่ออำนาจการบริหารกิจการคณะสงฆ์ แต่เมื่อคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้เสนอร่างพระราช-บัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. . ร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. . และร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. . ซึ่งมีผลแก้ไขเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ดังกล่าวต่อสภาผู้แทนราษฎร - ๒ - แล้ว ความเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ด้วยเหตุที่เกรงว่าจะมีผล กระทบจากพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงหมดไป คงเหลือก็แต่ความจำเป็นที่จะปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพกว่าเดิม ในบางประเด็นเท่านั้น จึงมีมติให้ยืนยันหลักการร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. . ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ แต่ให้พิจารณาปรับปรุงแก้ไขใหม่อีก ครั้งหนึ่ง เพื่อให้เกิดความรอบคอบ สร้างความเข้าใจและความสมานฉันท์ โดยใช้แนวทางต่อไปนี้ ๑. ยึดพระธรรมวินัย รัฐธรรมนูญ และขนบธรรมเนียมประเพณีไทยเป็นสำคัญ ๒. มีกลไกที่จะแก้ปัญหาการลงนิคหกรรมพระที่ล่วงละเมิดพระธรรมวินัย ได้อย่างคล่องตัว รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ๓. มีระบบกระจายอำนาจการบริหารคณะสงฆ์ที่เหมาะสม ๔. ส่งเสริมให้พระที่มีศีลาจารวัตรงดงาม ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ได้รับการยกย่อง และให้พระที่มีความรู้ความสามารถและมีเวลาได้เข้ามามีบทบาทในการบริหารมากขึ้น ๕. ส่งเสริมการนำพุทธธรรมมาใช้แก้ปัญหา และพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่พุทธ-ศาสนิกชนอย่างแพร่หลายกว้างขวางยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ให้สำนักนายกรัฐมนตรีรับไปออกแถลงการณ์ชี้แจงแก่ประชาชนตามแนวทางนี้ และให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายอีกครั้งหนึ่ง โดยอาจเชิญพระภิกษุและผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมายและด้านพระ-พุทธศาสนาเข้าร่วมเป็นที่ปรึกษาหรือคณะทำงาน และเมื่อพิจารณาแล้วให้เร่งนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป กรมการศาสนาพิจารณาแล้วเห็นว่า เรื่องที่เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. . หากจะมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับคณะสงฆ์ สมควรมอบให้คณะกรรมการพิจารณาปรับโครงสร้างงานพระพุทธศาสนา ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ - ๓ - พิจารณาดำเนินการจนกว่าจะแล้วเสร็จ ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับมติมหาเถรสมาคมครั้งที่ ๗/๒๕๔๕ เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๔๕ ที่ประชุมรับทราบ
เอกสารประกอบเพิ่มเติม
เอกสารประกอบ 1 : CCF02982551_00227.pdf (103.64 kb)
จำนวนเข้าดู : 1054
ปรับปรุงล่าสุด : 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 08:00:00
ข้อมูลเมื่อ : 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 08:00:00